เจาะ 5 ตระกูลใหญ่ ขยับคุมธุรกิจอสังหาฯไทย


09/04/2021 สุรเชษฐ กองชีพ

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เป็นที่หมายปองหรือจับตามองของบริษัท หรือนักลงทุนที่มีเงินหรือรายได้ต่อเนื่องจากธุรกิจอื่นๆ เพราะนอกจากจะสามารถสร้างรายได้ทั้งแบบระยะสั้น เช่น โครงการที่อยู่อาศัยแบบขายทั้งคอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรร รวมไปถึงการซื้อ-ขายที่ดิน ยังสร้างรายได้แบบระยะยาว เช่น โรงแรม อาคารสำนักงาน ค้าปลีก เซอร์วิสอพาร์ทเม้นต์

ซึ่งแบบระยะยาวนี้เป็นการสร้างโครงการขึ้นมาเพื่อเก็บรายได้ระยะยาว อีกทั้งยังเป็นการสร้างหรือสะสมอสังหาริมทรัพย์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัทได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีช่องทางในการขายอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้ออกไปเพื่อระดมทุนหรือนำเงินทุนที่ลงทุนก่อสร้างไว้กลับมาได้โดยการขายเข้าทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust : REIT) หรือที่เรียกกันติดปากว่า “กองรีท” ซึ่งเป็นรูปแบบการขายออกทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการหรือบริษัทจำนวนมากนิยมใช้กันในปัจจุบันเริ่มเห็นร่องรอยกลุ่มทุนใหญ่จากธุรกิจอื่น

รุกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่ช่วงก่อนปี 2540 ซึ่งอาจจะมีบางรายที่ชะลอธุรกิจด้านนี้ไปเพราะพิษเศรษฐกิจในช่วงหลังจากปี 2540 แต่บางรายก็อาศัยจังหวะที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเข้ามากว้านซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่างๆ แล้วต่อยอดพัฒนาขึ้นมาต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เพราะพวกเขามีเงินสดที่ได้จากการขายสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันซึ่งสร้างรายได้มหาศาลแบบรายวัน บริษัทขนาดใหญ่ที่ทุกคนรับรู้ว่าเป็นของตระกูลหรือครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งซึ่งมีธุรกิจครอบคลุมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันมีไม่มากนัก ได้แก่

1. กลุ่มซีพี (เครือเจริญโภคภัณฑ์) หรือตระกูลเจียรวนนท์

บริษัทขนาดใหญ่ที่มีธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่มครอบคลุมทั้งประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก อีกทั้งมีที่ดินเพื่อการเกษตรอีกมากมายทั่วประเทศไทย มีส่วนที่เกี่ยวข้องธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มานานแล้ว มีการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยทั้งบ้านจัดสรร และโครงการคอนโดมิเนียมมายาวนาน เพียงแต่มีการรับรู้ในวงไม่กว้างนัก กลุ่มซีพีใช้บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน)

ซึ่งเป็นบริษัทในเครือในการพัฒนาโครงการประเภทนี้ รวมไปถึงอาคารสำนักงานที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดทั้งหมด นอกจากนี้กลุ่มซีพียังมีโรงแรม ธุรกิจค้าปลีก นิคมอุตสาหกรรม ศูนย์ประชุม ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในด้านอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มซีพีจะเน้นโครงการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจค้าปลีกเพราะพวกเขาเป็นต้นทางในการผลิตสินค้าบริโภคขนาดใหญ่ของประเทศไทย การมีธุรกิจค้าปลีกทุกประเภทเป็นของตนเองจึงเป็นการมีแหล่งกระจายสินค้าเข้าถึงกลุ่มคนซื้อได้แบบครอบคลุมมากที่สุด กลุ่มซีพียังมีที่ดินที่ไม่ได้พัฒนาหรือเป็นที่ดินเพื่อการเกษตรจำนวนมาก

การที่กลุ่มซีพีได้สัมปทานการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเท่ากับที่ดินในมือพวกเขาอีกจำนวนมากกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต ยังไม่รวมโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่จะเกิดขึ้นบนที่ดินที่พวกเขาได้สิทธิ์ในการพัฒนาอย่างที่ดินมักกะสัน นอกจากซี.พี.แลนด์ แล้ว กลุ่มซีพี ยังมีบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น หรือ MQDC แม้ไม่ได้อยู่ในฐานะบริษัทในเครือหรือบริษัทลูกของกลุ่มซีพี แต่การที่ผู้บริหารสูงสุดหรือเจ้าของบริษัทนั้นเป็นคนในตระกูลเดียวกันกับกลุ่มซีพีจึงถูกมองว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างเลี่ยงไม่ได้

2. กลุ่มทีซีซี (ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น) หรือตระกูลสิริวัฒนภักดี

บริษัทขนาดใหญ่ที่มีกิจการครอบคุลมเครื่องดื่มทั้งแบบมีและไม่มีแอลกอฮอล์ขนาดใหญ่ของประเทศไทยและในอาเซียน กลุ่มนี้คนอาจจะติดภาพลักษณ์ว่าเป็นบริษัทที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่จริงๆ แล้วกลุ่มทีซีซีมีกิจการหลายอย่างที่ครอบคลุมทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค

แต่สินค้าที่มีแอลกอฮอล์เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นแห่งความยิ่งใหญ่ของพวกเขา กลุ่มทีซีซีได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่ขึ้นชื่อในเรื่องของการควบรวมกิจการ เทกโอเวอร์บริษัท หรือกว้านซื้ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งซื้ออสังหาริมทรัพย์มีให้เห็นมาตั้งนานแล้ว โดยเฉพาะหลังจากปี 2540 เป็นต้นมา โครงการที่กลุ่มทีซีซีซื้อเข้ามานั้นมีทั้งที่ดินเปล่า อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และโรงแรม กลุ่มทีซีซีเป็นอีกกลุ่มบริษัทที่มีที่ดินเปล่าในครอบครองมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย

โดยมีที่ดินขนาดใหญ่ที่รอการพัฒนาอีกหลายแปลงทั้งที่เกษตร-นวมินทร์ และชะอำ การเข้ามาในธุรกิจอสังหาฯ ของกลุ่มทีซีซีเกิดขึ้นแบบชัดเจน หลังจากที่พวกเขามีทั้งโรงแรม อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และมีการพัฒนาโครงการศูนย์การค้าของตนเอง รวมไปถึงโครงการคอนโดมิเนียมที่เกิดจากการร่วมทุนกับกลุมแคปปิตอลแลนด์จากสิงคโปร์ กลุ่มทีซีซีเข้ามายืนในธุรกิจอสังหาฯ แบบเต็มตัวมากขึ้นหลังจากที่พวกเขาเข้าเทกโอเวอร์บริษัท แผ่นดินทองพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) แกรนด์ ยูนิตี ดีเวลลอปเมนท์ และบริษัทต่างประเทศอย่าง เฟรเซอร์แอนด์นีฟ (เอฟแอนด์เอ็น)

ซึ่งนอกจากจะมีธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มแล้ว กลุ่มเฟรเซอร์ยังมีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็น 1 ในธุรกิจสำคัญของพวกเขา ทำให้กลุ่มทีซีซีมีอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ และเริ่มพัฒนาโครงการขนาดใหญ่อย่างวันแบงค็อก ล่าสุดกลุ่มทีซีซีก่อตั้งบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) ขึ้นมาเพื่อบริหารโครงการอสังหาริมทรัพย์บางส่วนในกลุ่มทีซีซี ซึ่งมีทั้งโรงแรม อาคารสำนักงาน ค้าปลีก และเป็นบริษัทที่น่าจับตามองในอนาคต เพราะเชื่อว่าจะมีการถ่ายโอนอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มทีซีซีเข้ามาที่บริษัทนี้มากขึ้น อีกทั้งยังจะมีการซื้ออสังหาริมทรัพย์เข้ามาในครอบครองต่อเนื่องแน่นอน เพราะมีงบประมาณพร้อมอยู่แล้ว

3. กลุ่มเซ็นทรัลหรือตระกูลจิราธิวัฒน์

ธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยตระกูลจิราธิวัฒน์น่าจะเป็นตระกูลใหญ่ที่สุดในธุรกิจนี้ กลุ่มเซ็นทรัลเริ่มต้นกิจการของตนเองจากธุรกิจค้าปลีกซึ่งมีทั้งห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้า ก่อนที่จะต่อยอดไปยังอาคารสำนักงานในกรุงเทพมหานคร และโรงแรมทั่วประเทศ

ก่อนที่จะขยายไปซื้อห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และโรงแรมรวมไปถึงการเข้าไปร่วมทุนเพื่อพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เริ่มขยับเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยแบบชัดเจนในปี 2559 หลังจากที่เปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมในจังหวัดเชียงใหม่ ระยอง และขอนแก่น อีกในไตรมาสที่ 1 จากนั้นมีอีกหลายโครงการคอนโดมิเนียมในหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย โดยโครงการคอนโดมิเนียมของกลุ่มเซ็นทรัลจะอยู่ในทำเลรอบๆ ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าของเครือเซ็นทรัล

จากนั้นกลุ่มเซ็นทรัลมีการเปิดขายโครงการบ้านจัดสรรโดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า “นิยาม” และ ”นินญา” ซึ่งทั้งโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมพัฒนาโดยบริษัท ซีพีเอ็น เรสซิเดนซ์ จำกัด ซึ่งปัจจุบันมีโครงการครอบคลุมในหลายทำเลทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดการก้าวเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อีกก้าวสำคัญของกลุ่มเซ็นทรัลคือ การเข้าเทกโอเวอร์บริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มจีแลนด์ทำให้กลุ่มเซ็นทรัลได้โครงการอสังหาริมทรัพย์ และที่ดินของกลุ่มจีแลนด์เข้ามาในกลุ่มอีกหลายโครงการ ทั้งโครงการอาคารสำนักงาน บ้านจัดสรร และที่ดินเปล่า

ซึ่งที่ดินเปล่าที่กลุ่มเซ็นทรัลได้มานั้นทำให้ได้รับการจับตามองมาก เนื่องจากเป็นที่ขนาดใหญ่ตรงสี่แยกถนนพระราม 9 ตัดกับถนนรัชดาภิเษก ซึ่งเคยเป็นของกลุ่มจีแลนด์ แม้ว่าจะพัฒนาไปแล้วแต่ด้วยที่ขนาดใหญ่กว่า 70 ไร่ทำให้ยังมีที่ดินเหลือรอการพัฒนาอีกในอนาคต และที่ดินขนาด 48 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างแยกรัชโยธินและห้าแยกลาดพร้าว ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลได้มาจากการเทกโอเวอร์จีแลนด์ และการซื้อหุ้นอีก 50% ในบริษัท เบย์วอเตอร์ จำกัด จากบริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ทำให้เซ็นทรัลได้ที่ดินทั้งแปลงมาเป็นกรรมสิทธิ์

4. กลุ่มสิงห์ หรือตระกูลภิรมย์ภักดี

บริษัทที่มีรายได้หลักจากการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และน้ำดื่มรายใหญ่ของประเทศไทย ก่อนที่จะขยายธุรกิจออกมาครอบคลุมธุรกิจอื่นๆ มากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีธุรกิจอสังหาฯแบบชัดเจน เป็นเพียงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักของบริษัทเท่านั้น ทั้งการเข้าซื้อกิจการโรงงานต่างๆ ก็เป็นการต่อยอดจากธุรกิจที่มีอยู่ทั้งสิ้นการเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มสิงห์สามารถเห็นได้ชัดเจนเมื่อพวกเขาเข้าเทกโอเวอร์บริษัท รสา พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในปี 2557 จากนั้นเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน)

และหลังจากนั้นกลุ่มสิงห์ก็เริ่มพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ภายใต้ชื่อบริษัท สิงห์เอสเตท จำกัด (มหาชน) ออกมาต่อเนื่องรวมไปถึงโครงการที่ได้จากการเทกโอเวอร์รสาบางส่วน โดยโครงการที่เกิดขึ้นหลังจากนี้มีทั้งโครงการคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า(ขนาดเล็ก) นอกจากนี้ยังเข้าเทกโอเวอร์หรือเข้าซื้อกิจการอีกหลายแห่งต่อเนื่องกัน ซึ่งมีผลให้พวกเขาเป็นเจ้าของอาคารสำนักงานเพิ่มเติม และยังมีการพัฒนาโครงการอาคารสำนักงานใหม่ของพวกเขาเองอีกด้วยในส่วนของโครงการที่อยู่อาศัยก็มีการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมออกมาต่อเนื่องทั้งในระดับราคาแพง และระดับกลาง รวมไปถึงโครงการบ้านจัดสรรราคาแพงในกรุงเทพมหานครอีกด้วย

การเข้าซื้อกิจการโรงแรมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศเป็นอีก 1 รูปแบบธุรกิจที่พวกเขาดำเนินการต่อเนื่องหลังจากที่เริ่มดำเนินกิจการ โดยในตอนนี้พวกเขามีโรงแรมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศรวมทั้งหมด 39 แห่ง ภายใต้การบริหารโดยบริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด มหาชน กลุ่มสิงห์อาจจะเป็นกลุ่มบริษัทที่มีการลงทุนค่อนข้างชัดเจนในธุรกิจโรงแรม คอนโดมิเนียม และอาคารสำนักงาน อีกทั้งยังมีทิศทางในอนาคตที่ค่อนข้างชัดเจนว่าจะขยายการลงทุนเพิ่มต่อไป

5. กลุ่มบีทีเอสหรือตระกูลกาญจนพาสน์บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ คุณคีรี กาญจนพาสน์ เป็นบริษัทที่เป็นผู้ได้รับสัมปทานเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว เส้นทางรถไฟฟ้าเส้นทางแรกของประเทศไทย ก่อนหน้านี้พวกเขาใช้ชื่อว่า บริษัท ธนายง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนาโครงการธนาซิตี้ โครงการที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่บนถนนบางนา-ตราด ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ในปี 2553 บริษัทนี้มี 4 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจระบบขนส่งมวลชน ธุรกิจสื่อโฆษณา ธุรกิจบริการ และธุรกิจพัฒนาและลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศในส่วนธุรกิจพัฒนาและลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ

ดำเนินการโดยบริษัท ยูซิตี้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งก่อนหน้านี้คือ บริษัท แนเชอรัลพาร์ค จำกัด (มหาชน) ซึ่งเข้ามาอยู่ภายใต้กลุ่มบีทีเอสในปี 2558 และมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การบริหารและพัฒนาของยูซิตี้หลายโครงการ ทั้งโครงการโรงแรมในประเทศไทยและต่างประเทศ อาคารสำนักงานที่เปิดให้บริการมานานแล้ว และที่กำลังก่อสร้างใหม่ รวมไปถึงโครงการที่อยู่อาศัยที่กลุ่มบีทีเอสโดยบริษัท ยูซิตี้ เข้าไปร่วมทุนพัฒนาด้วยทั้งกับบริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน)

ซึ่งมีโครงการคอนโดมิเนียมหลายโครงการที่พัฒนาร่วมกันอีกทั้ง ยังเข้าซื้อหุ้นบางส่วนในบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เพื่อต่อยอดพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ร่วมกันแถวบางนา – ตราด บริษัท ยูซิตี้ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมทุนในการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมร่วมกับบริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) 4 โครงการในปี 2564 รวมไปถึงการเข้าซื้ออาคารสำนักงานของโนเบิลก่อนหน้านี้ด้วย และอาจจะมีอีกหลายโครงการในอนาคต

นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนนานาชาติเวอร์โซที่ร่วมทุนกับฮ่องกงอีกด้วยถ้าพิจารณาเป็นตระกูลแล้ว ตระกูลกาญจนพาสน์ยังมีอีก 1 ฝั่งที่ลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มายาวนาน คือ บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นของคุณอนันต์ กาญจนพาสน์ ผู้พัฒนาโครงการเมืองทองธานี และอิมแพ็ค เมืองทองธานีในปัจจุบัน พื้นที่ครอบคลุมกว่า 4,000 ไร่ มีทั้งคอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร อาคารพาณิชย์ ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน ศูนย์แสดงสินค้า โรงแรม สนามกีฬา โรงแรม ทิศทางของเมืองทองธานีกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นหลังจากหมดโควิด-19 น่าจะมีการขยายตัวต่อเนื่องอีก เพราะมีเส้นทางรถไฟฟ้าต่อขยายจากสายสีชมพูเข้ามาในเมืองทองธานีอีก 2 สถานี

ทั้ง 5 กลุ่มบริษัท 5 ตระกูลก็ครอบคลุมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยไปได้ไม่น้อยแล้ว ซึ่งในปัจจุบันยังมีตระกูลอื่นๆ ที่อาจจะยังไม่ชัดเจนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น ตระกูลโชควัฒนากลุ่มสหพัฒน์ที่มีการลงทุนทั้งโรงแรม เซอร์วิสอพาร์ทเม้นต์ คอมมูนิตี้มอลล์ที่ศรีราชา ตระกูลมหากิจศิริที่เริ่มขยับเข้าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น มีการเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมหลายโครงการโดยใช้บริษัท เดอะ เนสท์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ที่ได้รุ่นลูกของตระกูลมาเป็นผู้บริหาร รวมไปถึงตระกูลอื่นๆ ถ้ามีการขยับขยายเข้ามาในธุรกิจอสังหาฯ ตามกันต่อเนื่องในอนาคต

www.phoenixproperty.co.th


แชร์บทความ
Tags

กลุ่มซีพีกลุ่มทีซีซีกลุ่มบีทีเอสกลุ่มสิงห์กลุ่มเซ็นทรัลประเทศไทยฟีนิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้


add line phoenix