ทางรอดของดีเวลล็อปเปอร์และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ หลังโควิด19


14/07/2020 สุรเชษฐ กองชีพ

ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว นอกจากต้องอยู่รอดให้ได้แล้วผู้ประกอบการหลายรายยังใช้เวลานี้ในการปรับตัว หรือปรับโครงสร้างภายในของตนเองด้วย

ช่วงที่ประเทศไทยและทุกประเทศทั่วโลกประสบกับปัญหาเศรษฐกิจชะงักงัน เนื่องจากการปิดประเทศ งดการเดินทาง หรือการที่คนในประเทศต้องเว้นระยะห่างทางสังคมแบบจริงจัง มีผลให้หลายๆ ธุรกิจจำเป็นต้องปิดกิจการชั่วคราว หรือถึงขั้นเลิกกิจการไปเลยก็มีไม่น้อยเพราะไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายที่อาจจะยังมีอยู่แม้ว่ากิจการไม่ได้เปิดให้บริการหลายธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวหรือเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจไปจากที่เคยซึ่งมีบ้างที่ยังสามารถสร้างรายได้ได้เพียงพอสำหรับจ่ายเงินเดือนให้พนักงานในช่วง 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา แต่ส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอค่าใช้จ่าย แต่ยังจำเป็นต้องยืนหยัดต่อไป หลายธุรกิจรวมไปถึงผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็มีการเปลี่ยนแปลงแบบเห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมา

ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ใช้ช่วงเวลานี้ในการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจของตนเองทั้งการปรับโครงสร้างและบุคลากรภายในขององค์กรหรือการปรับภาพลักษณ์องค์กรรวมไปถึงการปรับรูปแบบของธุรกิจให้แตกต่างจากที่เคยดำเนินกิจการมาหลายปี โดยการปรับโครงสร้างภายในองค์กรช่วงนี้จำเป็นต้องทำ  เพราะเพื่อการลดค่าใช้จ่ายหรือเพื่อประคองให้ธุรกิจของตนเองให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้โดยรูปแบบของการปรับตัวของผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ดำเนินการทันทีในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา คือ

1.   การบอกเลิกสัญญาจ้างสำหรับลูกจ้างชั่วคราวทันทีเพื่อลดค่าใช้จ่ายลง

2.   การลดการให้สวัสดิการบางเรื่อง เช่น ค่าเดินทางสำหรับคนที่ต้องเดินทางไปมาหลายๆ สถานที่ก่อนหน้านี้ เพราะช่วงที่มีการล๊อคดาวน์ก็ไม่จำเป็นต้องเดินทาง

3.   การลดการทำงานล่วงเวลาทันที

4.   การเลิกจ้างพนักงานบางส่วนที่ยังไม่ผ่านการทดลองงาน

5.   การกำหนดเป้าของพนักงานขายและบังคับใช้ยอดขายนั้นเป็นเกณฑ์การพิจารณาในการทำงานต่อไป

6.   การเลิกจ้างพนักงานขายทันทีและเปลี่ยนมาเป็นแบบสัญญาจ้างชั่วคราวแทน

7.   ลดจำนวนพนักงานประจำสำนักงานขายลงรวมไปถึงการลดการจ้างพนักงานทำความสะอาดและพนักงานรักษาความปลอดภัยที่อยู่ประจำสำนักงานขาย

8.   ปิดสำนักงานขายโดยลูกค้าที่ต้องการชมห้องหรือบ้านตัวอย่างต้องนัดหมายล่วงหน้า

9.   การเปิดขายออนไลน์เป็นช่องทางที่ผู้ประกอบการเน้นมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

10. การลดการซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการใหม่โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียม

11. การลดจำนวนคนงานก่อสร้างและลดการทำงานล่วงเวลาให้น้อยลง

12. การพิจารณาการซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการใหม่คำนึงถึงรูปแบบโครงการที่จะเกิดขึ้นมากขึ้น

13. ปรับโครงสร้างองค์กรให้มีความกระชับโดยการลดจำนวนพนักงานลง เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนได้รวดเร็วขึ้น

14. งานบางส่วนขององค์กรใช้บริการบริษัทนอกหรือ Outsource มากขึ้น

15. ลดการเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมเน้นบ้านจัดสรรราคาไม่สูงมากขึ้น

16. เพิ่มการพัฒนาโครงการรูปแบบอื่นๆ เช่น โรงแรม อาคารสำนักงาน เซอร์วิสอพาร์ทเม้นต์ หรือโครงการรูปแบบอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้ต่อเนื่องในระยะยาว โดยบางบริษัทเริ่มมามากกว่า 10 ปีแล้ว

17.  ประชาสัมพันธ์ถึงธรรมาภิบาลหรือการประสบความสำเร็จของบริษัทในช่วงที่มีวิกฤตไวรัสโควิด-19

18.   สร้าง Mindset พนักงานในองค์กรให้มีความเป็นเจ้าของร่วมกับบริษัทมากขึ้น

19.  ลดงบประมาณในการทำการตลาดลงโดยเฉพาะกับโครงการที่เพิ่งเปิดขายหรือโครงการที่กำลังจะเปิดขาย

20.  พยายามรักษาสายสัมพันธ์อันดีกับนักข่าว บล็อกเกอร์ และ Influencer ต่างๆ ในช่วงที่ไม่มีการเปิดขายโครงการใหม่

การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กล่าวไปแล้วนั้นเห็นได้ชัดในช่วง 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา และอาจจะเป็นเรื่องที่ทุกบริษัททำเหมือนๆ กันไม่แตกต่างกัน เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับพนักงานหรือเรื่องที่เกิดกับพนักงานภายในองค์กรโดยตรง แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระดับผู้บริหารเช่นกัน ซึ่งอาจจะไม่ได้เกิดจากวิกฤตโควิด-19 แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ประจวบเหมาะในช่วงนี้พอดี เพราะช่วงต้นปีก่อนจะจบไตรมาสที่ 2  ของทุกปีเป็นช่วงที่มักจะมีการเปลี่ยนงานอยู่แล้ว โดยผู้บริหารที่มีการลาออกจากองค์กรที่ทำมายาวนานและสร้างความแปลกใจให้กับคนในวงการอสังหาริมทรัพย์คือ คุณประเสริฐ แต่ดุลยสาธิตที่ลาออกจากพฤกษาที่ทำงานมานานกว่า 15 ปี อีกคนคือคุณขยล ตันติชาติวัฒน์ที่ลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของบริษัท กรุงเทพ ซิตี้สมาร์ท จำกัด บริษัทนายหน้าในเครือบริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หลังจากที่ทำงานมานานจนติดภาพคุณขยลว่าคู่กับกรุงเทพ  ซิตี้สมาร์ทไปแล้ว รวมไปถึงการลาออกจากบริษัทหนึ่งไปอีกบริษัทหนึ่งของผู้บริหารบางคนที่ไม่เป็นข่าวในช่วงที่ผ่านมาซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากความกดดันที่มาจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 หรือความสมัครใจลาออกเองเพราะหมดความท้าทายหรือมองเห็นแล้วว่าองค์กรจะเจอปัญหาไปอีก 1 – 2 ปีเลยชิงลาออกก่อนที่ปัญหาจะชัดเจนกว่าตอนนี้ รวมไปถึงการโดนกดดันด้วยเป้าหมายหรือยอดขายที่ไม่ได้สอดคล้องกับภาวะตลาด  

บางบริษัทอาจจะมีการเลิกจ้างทันทีโดยที่ไม่มีการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายให้กับพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง โดยให้พนักงานไปดำเนินการฟ้องร้องเอาเองเพราะบริษัทต้องการตัดรายจ่ายแบบทันที เนื่องจากมีรายจ่ายจำเป็นหลายๆ อย่างที่ไม่สามารถผ่อนผันหรือตัดได้ การชะลอการก่อสร้างก็เป็นอีก 1 วิธีที่เห็นได้ทั่วไปในช่วง 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา อาจจะไม่หยุดการก่อสร้างเพียงแต่ก่อสร้างช้าลงเพราะจำนวนคนงานลดลงหรือไม่ได้ทำงานล่วงเวลาแบบในอดีต  


แชร์บทความ
Tags

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์


add line phoenix