วิเคราะห์อสังหาฯ แนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ส่วนต่อขยาย)


29/11/2019 มณีรัตน์ จันทร์เคน

เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง – หลักสองเปิดให้บริการไปแล้วและช่วยให้คนจำนวนมากที่อยู่อาศัยในพื้นที่ตามแนวเส้นทางโดยเฉพาะตามแนวถนนเพชรเกษมส่วนหนึ่งเดินทางเข้าเมืองชั้นในได้สะดวกขึ้น อีกทั้งมีผลให้ความหนาแน่นของรถไฟฟ้าสายสีเขียว (สายสีลม) ลดลงไประดับหนึ่ง และในปีพ.ศ.2563 เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ – ท่าพระจะเปิดให้บริการเพิ่มเติมอีกและจะเป็นการเติมเต็มเส้นทางวงแหวนของรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทย

แม้ว่าเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจะเปิดให้บริการไปช่วงหนึ่งแล้ว แต่ไม่ได้ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่มากมายนัก

เมื่อเทียบกับพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าอื่นๆ อาจจะเพราะพื้นที่ฝั่งธนบุรียังไม่ใช่พื้นที่ที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจเป็นลำดับต้นๆ มีพื้นที่อื่นๆ ที่น่าสนใจมากกว่าในตอนนี้

พื้นที่ตลอดแนวถนนตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินยังเป็นอาคารพาณิชย์ที่ทำกิจการการค้ามานานกว่า 20 – 30 ปี การเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่จึงค่อนข้างต้องใช้เวลานานสักหน่อย แต่เชื่อแน่ว่าในอนาคตจะเกิดการเปลี่ยนแปลงกว่าที่เห็นแน่นอนที่เห็นได้ชัดในช่วงนี้อาจจะมีแต่โครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่เท่านั้น

ในส่วนของพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าช่วงหัวลำโพง – หลักสอง มีส่วนช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ตามแนวเส้นทางในบางพื้นที่ที่เห็นได้ชัด คือ พื้นที่ตามแนวถนนเจริญกรุงที่มีนายทุนใหญ่เข้าไปลงทุนมากขึ้น

ก่อนหน้านี้อาจจะมีกลุ่มทีซีซีที่เป็นผู้พัฒนาพื้นที่เวิ้งนาครเขษมเดิมซึ่งกำลังพัฒนาอาคารเดิมที่อยู่ในพื้นที่ให้เป็นย่านการค้าที่ต่อเนื่องจากย่านเยาวราชและคงความเป็นชุมชนชาวจีนเอาไว้ให้เหมือนเดิม กลุ่มดุสิตธานีเข้าไปเช่าโรงแรมในโครงการมิกซ์-ยูส “ไอแอม ไชน่าทาวน์” เพื่อเปิดเป็นโรงแรมแบรนด์ “อาศัย” ในช่วงต้นปีพ.ศ.2563 ซึ่งภายในโครงการนี้กลุ่มเดอะมอลล์ ได้เข้ามาเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตรูปแบบใหม่ในชื่อ “กูร์เมต์ ไทย” และกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพหรือ BDMS ได้เปิดโรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ซึ่งก่อนหน้านี้คือ โรงพยาบาลกรุงเทพ ไชน่าทาวน์

จะเห็นได้ว่าเมื่อการก่อสร้างของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีความเป็นรูปธรรมชัดเจน อีกทั้งมีกำหนดเปิดให้บริการที่แน่นอนมากขึ้น ยิ่งมีผลให้พื้นที่ตามแนวเส้นทางเป็นที่สนใจของผู้ประกอบการและนายทุนต่างๆ มากขึ้น แต่ที่น่าสนใจคือ ไม่มีโครงการที่อยู่อาศัยในรูปแบบคอนโดมิเนียมเลย อาจจะเพราะช่วงข้อกำหนดและกรรมสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่ช่วงหัวลำโพง – สนามไชยมีแต่โครงการโฮมออฟฟิศและได้รับความสนใจค่อนข้างสูง

แหล่งที่มา Facebook Page PropertyDNA วันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2562


แชร์บทความ
Tags

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ตลาดอสังหาฯบางซื่อ-ท่าพระผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายหัวลำโพง-หลักสอง


add line phoenix