เปิดประกาศค่าตั๋วใหม่รถไฟฟ้าสายสีเขียว กทม. แจงยิบทำไมต้องเก็บ 104 บาท


18/01/2021 วรรณา หาญนอก

“ผู้ว่าฯอัศวิน” เซ็นออกประกาศค่าโดยสารใหม่สายสีเขียว 15-104 บาท เก็บจริง 16 ก.พ. นี้ ไม่มีค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนพร้อม ร่ายยาวชี้แจงต้องเก็บเพราะแบกต้นทุนไม่ไหว ลุ้นครม.ทางตันเคาะสัมปทาน ดั๊มฟ์ราคาลงเหลือสูงสุด 65 บาท สางหนี้ 1.2 แสนล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกประกาศ กทม. เรื่อง การกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ลงนามโดยพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่ากทม. อาศัยอำนาจตามข้อ 4 แห่งข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง ค่าบริการระบบขนส่งมวลชน กทม. 2552 และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. 2564 เป็นต้นไป มีสาระสำคัญคือ

ให้ยกเลิกประกาศ กทม. ฉบับวันที่ 29 ม.ค. 2560 เรื่อง ค่าโดยสารโครงการระบบขนส่งมวลชนกทม.ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทตอนที่ 1(ซ.สุขุมวิท 85- สุขุมวิท 107) ระยะทาง 5.25 กม. และส่วนต่อขยายสายสีลมตอนที่ 2 (ตากสิน – เพชรเกษม) ระยะทาง 5.3 กม.

เก็บ 15-104 บาท เริ่ม 16 ก.พ. 64

โดยกำหนดสายทางและค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวใหม่ ดังนี้

1. รถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต (สถานีห้าแยกลาดพร้าว – สถานีคูคต) จำนวน 16 สถานี เก็บค่าโดยสารราคา 15-45 บาท (ปรับขึ้น 3 บาท/สถานี)

2.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ คือ รถไฟฟ้าสายสีเขียวตามแนวสัมปทาน สายสุขุมวิท ช่วงอ่อนนุช – หมอชิต และสายสีลม ช่วงสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ – สะพานตากสิน จำนวนรวม 23 สถานี ค่าโดยสารอยู่ที่ 16-44 บาท

3. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ส่วนต่อขยายสายสีลมช่วงที่ 1 คือรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงสถานีกรุงธนบุรี – สถานีวงเวียนใหญ่ จำนวน 2 สถานี ค่าโดยสารอยู่ที่ 16 บาท

4.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท คือรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงสถานีบางจาก – สถานีแบริ่ง จำนวน 5 สถานี ค่าโดยสารอยู่ที่ 15-45 บาท (ปรับขึ้น 3 บาท/สถานี)

5.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ คือ รถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงสถานีสำโรง – สถานีเคหะสมุทรปราการ จำนวน 9 สถานี ค่าโดยสารอยู่ที่ 15-45 บาท (ปรับเพิ่ม 3 บาท/สถานี)

และ 6. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ส่วนต่อขยายสายสีลมช่วงที่ 2 คือส่วนต่อขยายสายสีลม ช่วงสถานีโพธิ์นิมิตร – บางหว้า จำนวน 4 สถานี ค่าโดยสารอยู่ที่ 15-25 บาท (ปรับเพิ่ม 3 บาท/สถานี)

ค่าแรกเข้าเก็บครั้งเดียวและจัดเก็บสูงสุดไม่เกิน 104 บาท

แจงต้องเก็บ เหตุแบกหนี้ 3 ปี

นอกจากนี้ กทม.ยังได้ชี้แจงกรณีการเก็บค่าโดยสารอัตราใหม่ด้วย โดยระบุว่า ในช่วงทดลองให้บริการส่วนต่อขยายต่างๆ กทม.ไม่มีการเรียกเก็บค่าโดยสารมา 3 ปีแล้ว เนื่องจาก กทม. ต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน

แต่ตอนนี้เปิดให้บริการเดินรถเต็มทั้งระบบแล้ว ประกอบกับ กทม. มีภาระค่าใช้จ่ายในการเดิน รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเริ่มเรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการในส่วนต่อขยายสายสีเขียว ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. 2564 เป็นต้นไป ยืนยันว่าเสียค่าแรกเข้ารอบเดียว ไม่มีการเก็บซ้ำซ้อน

ฉุดเรตเหลือ104 บาท บรรเทาโควิด

ส่วนอัตราค่าโดยสารสูงสุด จริงๆแล้วอยู่ที่ 158 บาท แต่เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาด จะปรับอัตราค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 104 บาทแทน ซึ่ง กทม. จะมีผลขาดทุนจากการดำเนินการส่วนต่อขยายประมาณปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท เมื่อนับรวมตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปี 2572 จะมีผลขาดทุนถึงประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท

ขณะที่ประเด็นการต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียว เห็นว่าแนวทาง PPP เป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุด โดยจะให้เอกชนเข้ามารับภาระหนี้สินของ กทม. เพื่อที่จะทำให้ กทม. สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ไม่เป็นภาระต่อประชาชนจนเกินสมควร

หวังครม.เคาะต่อสัมปทานฝ่าทางตัน

ปัจจุบันนี้ กทม. อยู่ระหว่างการนำเสนอแก้ไขสัญญาสัมปทานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งหากมีการเห็นชอบแล้ว การแก้ไขสัญญาสัมปทานนี้จะช่วยลดอัตราค่าโดยสารสูงสุดจาก 104 บาท เป็น 65 บาท ลดลง 39 บาท และแก้ไขภาระหนี้สินกว่า 120,000 ล้านบาทของ กทม. ได้

รายละเอียดของประกอบด้วย

1.ภาระหนี้สินเดิมที่เกิดขึ้นจากการรับโอนโครงการส่วนต่อขยายที่ 2 ทั้งในส่วนเงินต้นค่างานโยธาที่ประมาณ 55,000 ล้านบาท

2.ภาระดอกเบี้ยในอนาคตอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท

3.ค่าลงทุนในงานระบบ (E&M) ในส่วนต่อขยายที่ 2 ประมาณ 20,000 ล้านบาท

4.ภาระหนี้ค่าจ้างงานเดินรถค้างจ่ายอีกประมาณ 9,000 ล้านบาท

5.ภาระผลขาดทุนจากการดำเนินการส่วนต่อขยายตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปี 2572 รวมอีกประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ เอกชนยังต้องแบ่งส่วนแบ่งรายได้ค่าโดยสารหลังปี 2572 ให้ กทม. อีกกว่า 200,000 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งเพิ่มเติมในกรณีที่ผลประกอบการจริงดีกว่าที่คาดการณ์ตอนเจรจา

ยืนยันว่า ภายใต้อำนาจของ กทม. จะพยายามแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอย่างดีที่สุดเพื่อให้ลดผลกระทบและความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด โดย กทม. จะอธิบายถึงเหตุผลความจำเป็นและประโยชน์ที่จะได้รับจากการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนต่อรัฐบาล เพื่อที่จะให้สามารถปรับอัตราค่าโดยสารให้ค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสายลดลงมาเหลือ 65 บาทโดยเร็วที่สุด

แหล่งที่มา เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ


แชร์บทความ
Tags

ครม.รถไฟฟ้าสายสีเขียวอัตราค่าโดยสาร


add line phoenix