เกลี่ยงบโปะซื้อระบบไฮสปีด 5 หมื่นล้าน หวั่นจีนปรับราคาใหม่


26/10/2020 วรรณา หาญนอก

เร่งสปีด – รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมาเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน ล่าสุดกำลังเร่งเคลียร์ปัญหาต่าง ๆทั้งเวนคืนที่ดิน รื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค อีไอเอ และเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาให้เริ่มงานได้ตลอดทั้งโครงการ

เกลี่ยงบโปะซื้อระบบไฮสปีด 5 หมื่นล้าน หวั่นจีนปรับราคาใหม่-คมนาคมเร่งเซ็นสัญญา ต.ค.

เกลี่ยงบฯรถไฟไทย-จีนใหม่ 1.2 หมื่นล้าน ใส่ในงานโยธาและงานระบบซื้อขบวนรถ ลดค่าเวนคืนที่ดินจาก 1.3 หมื่นล้าน เหลือ 5.6 พันล้าน คมนาคมเร่งปิดดีลสัญญางานระบบ 5 หมื่นล้านให้จบ ต.ค.นี้ หวั่นจีนปรับราคาเพิ่ม สั่ง ร.ฟ.ท.สำรวจพื้นที่ให้พร้อมส่งมอบ ปิดจุดอ่อนโครงการไม่ให้ดีเลย์ ลุ้น EIA ผ่านอนุมัติ ผู้รับเหมารอเซ็นสัญญาแสนล้าน เผยปัญหารอเคลียร์อีกเพียบ คาดกระทบไทม์ไลน์เปิดบริการขยับไปเป็นปี’69

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ล่าสุดได้ปรับกรอบค่ารื้อย้ายและเวนคืนที่ดินโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. จากเดิมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ 13,069.60 ล้านบาท เหลือ 5,637.85 ล้านบาท หลังได้เกลี่ยงบประมาณจำนวน 7,431.75 ล้านบาทไปรวมในการดำเนินการงานโยธา

โยกค่าเวนคืน 7 พันล้าน

เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาครัฐและ ร.ฟ.ท. เช่น การรื้อย้ายทางปัจจุบัน การรื้อย้ายสาธารณูปโภค การรื้อย้ายสิ่งอำนวยความสะดวกรอบสถานีและศูนย์ซ่อมบำรุง การรื้อย้ายจุดตัดเสมอระดับ เป็นต้น ปรับย้ายจากงานรื้อย้ายและเวนคืนไปยังงานโยธา

“ทั้งโครงการมีเวนคืน 2,815 ไร่ แบ่งเป็นสถานีบางซื่อ 818 ไร่ และบ้านภาชี 1,997 ไร่ อาทิ พระนครศรีอยุธยากว่า 500 ไร่ สร้างถนนและศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย จุดอื่น ๆ เช่น ช่วงดอนเมือง-รังสิตเวนคืนประมาณ 5-6 กม. และบริเวณเป็นจุดเลี้ยวโค้ง”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ความคืบหน้าการเวนนคืนที่ดินทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจสอบและนำส่งร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนให้ ร.ฟ.ท. ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอผลการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อประกอบการประกาศเขตที่ดินที่จะเวนคืน ซึ่งกระทรวงได้เร่งรัดให้ ร.ฟ.ท.ต้องเร่งยืนยันร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืน หาก EIA ได้รับการอนุมัติแล้ว

เร่งสำรวจพื้นที่-เซ็นงานระบบ

นอกจากนี้ ยังต้องเร่งดำเนินการประสานขอใช้ประโยชน์ที่ดินราชพัสดุบริเวณสถานีปากช่องจากกองทัพบกและกรมธนารักษ์ รวมถึงการเร่งดำเนินการส่งมอบที่ดินที่กำหนดใน พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน เพื่อไม่ให้เกิดการส่งมอบพื้นที่ให้คู่สัญญาล่าช้าจนเป็นเหตุทำให้ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาที่กำหนดระยะเวลาส่งมอบพื้นที่ และไม่ทำให้การก่อสร้างโครงการล่าช้าไปด้วย

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า รวมถึงต้องเร่งเซ็นสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากรภายในเดือน ต.ค.นี้ เนื่องจากกรอบวงเงิน 50,633.5 ล้านบาทที่ ครม.อนุมัติให้ขยายกรอบวงเงินจากเดิม 38,558.38 ล้านบาทไปแล้ว เป็นการเจรจาเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2562 ถึงขณะนี้เวลาล่วงเลยมา 1 ปีแล้ว หากล่าช้าออกไปจะเป็นเหตุให้ฝ่ายจีนขอปรับราคาให้เป็นราคา ณ ปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้ต้องเจรจากันอีกครั้ง

“กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาจัดตั้งองค์กรพิเศษที่เป็นอิสระจากการกำกับกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทยตามมติ ครม.วันที่ 11 ก.ค. 2560 ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2564 แล้ว”

เกลี่ยงบฯโปะซื้อระบบจีน

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับกรอบวงเงินสัญญา 2.3 วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิม 12,075.12 ล้านบาท สาเหตุมาจากการย้ายขอบเขตของงานระบบรถไฟความเร็วสูงที่ซ้อนทับอยู่ในขอบเขตของงานโยธาเป็นเงิน 7,032.78 ล้านบาท ซึ่งเป็นงานจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์บำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับขบวนรถไฟฟ้า โรงเชื่อมรางและกองเก็บ โรงกองเก็บราง เป็นต้น จึงได้ย้ายขอบเขตงานจากงานโยธาไปไว้ยังงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล

ยังมีการเปลี่ยนรุ่นขบวนรถ EMU จากรุ่น CRG2G (Hexie Hao) เป็น CR Series (Fuxing Hao) ซึ่งเป็นรถรุ่นใหม่ที่มีเทคโนโลยีและสมรรถนะที่ดีกว่า เป็นเงินเพิ่มขึ้น 2,530.38 ล้านบาท การปรับเปลี่ยนทางแบบใช้หินโรยทาง (ballasted track) เป็นทางแบบไม่ใช้หินโรยทาง (ballastless track) ในทางวิ่งช่วงสถานีบางซื่อ-ดอนเมือง ในสถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง สถานีนครราชสีมา และภายในอุโมงค์เพื่อให้ง่ายต่อการซ่อมบำรุง ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงในอนาคต

อีกทั้งยังรักษาภาพลักษณ์และทัศนียภาพตลอดจนมลพิษต่าง ๆ ที่จะเกิดจากการซ่อมบำรุงทางในสถานี ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองและภายในอุโมงค์ คิดเป็นค่าใช้จ่ายการเปลี่ยนโครงสร้างทาง เป็นเงิน 2,227.57 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่ารับประกันผลงานจากความชำรุดบกพร่องจาก 1 ปี เป็น 2 ปี ค่าดำเนินการต่าง ๆ และอื่น ๆ เป็นจำนวนเงิน 284.39 ล้านบาท

รวมถึงค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด ซึ่งค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลเกินกรอบวงเงินที่ ครม.อนุมัติไว้ จึงขอปรับเกลี่ยค่าเผื่อเหลือเผื่อขาดจำนวน 3,430.04 ล้านบาท ให้งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล เพื่อเป็นค่างานที่เพิ่มเติม และจากผลการดำเนินการประมูลก่อสร้างงานโยธาที่ต่ำกว่าราคากลางกว่า 10,000 ล้านบาท จึงขอเกลี่ยกรอบวงเงินบางส่วนให้งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล เพื่อไม่ให้การปรับกรอบวงเงินกระทบต่อกรอบวงเงินรวมของโครงการ 179,412.21 ล้านบาทตามที่ ครม.อนุมัติไว้

EIA ผ่านเซ็นทันทีงานแสนล้าน

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าการขออนุมัติ EIA ที่ทำเพิ่มเติมในช่วงกรุงเทพฯ-บ้านภาชี รอคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณากรณีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ (TOD) และสถานีที่ตั้งสถานีอยุธยาที่อยู่ใกล้เขตมรดกโลก หากได้รับอนุมัติมีงานโยธา 4 สัญญา พร้อมเซ็นสัญญาวงเงินรวม 36,637 ล้านบาท

ได้แก่ สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กม. มีกลุ่มกิจการร่วมค้า บจ.ซิโนไฮโดร, บจ.สหการวิศวกร และ บจ.ทิพากร ก่อสร้าง วงเงิน 8,626.80 ล้านบาท สัญญาที่ 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. มีกลุ่มกิจการร่วมค้า บจ.ไชน่าสเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น, บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ และ บจ.เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 11,525.35 ล้านบาท

สัญญา 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เสนอราคาต่ำสุด วงเงิน 6,573 ล้านบาท และสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว 13.30 กม. มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 9,913 ล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับช่วงภาชี-นครราชสีมา ทาง คชก.อนุมัติแล้วรอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมชุดใหญ่พิจารณาเห็นชอบ หลังได้รับอนุมัติจะเซ็นสัญญาได้ 7 สัญญา วงเงินรวม 59,033 ล้านบาท ได้แก่ สัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. มี บจ.ไทยเอ็นจิเนียริ่งฯ เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด 9,330 ล้านบาท สัญญา 3-2 งานอุโมงค์ช่วงมวกเหล็กและลำตะคอง มี บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 4,279.32 ล้านบาท

สัญญา 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 26.1 กม. มี บจ.กรุงธนเอนยิเนียร์ ก่อสร้าง วงเงิน 9,837.99 ล้านบาท สัญญา 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. มี บจ.บีพีเอ็นพี เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 9,848 ล้านบาท สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 13.69 กม. มีกลุ่มกิจการร่วมค้า SPTK ก่อสร้าง วงเงิน 7,750 ล้านบาท

สัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.6 กม. มี บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 9,429 ล้านบาท และสัญญา 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม. มี บจ.ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 8,560 ล้านบาท

ปัญหาจุกจิก-วันเปิดบริการไม่นิ่ง

“การประมูลงานโยธาได้ผู้รับเหมาหมดแล้ว ยังเหลืองานสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ที่ทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อยู่ระหว่างปรับแบบร่วมกัน ทั้งโครงการจะใช้เวลาสร้าง 5-6 ปี ตามแผนวางเป้าจะเปิดบริการปลายปี 2568 แต่ติด EIA และเวนคืนที่ดิน รวมถึงการรื้อย้ายท่อก๊าซ ปตท.ที่อยู่แนวเส้นทางอีก ขณะนี้ยังไม่ได้สรุปว่าจะปรับแบบไฮสปีดโดย ปตท.ออกค่าใช้จ่าย หรือ ปตท.จะเบี่ยงแนวแทน และยังมีการขอใช้พื้นที่ประทานบัตรเจาะอุโมงค์ช่วงมวกเหล็กและพื้นที่กรมป่าไม้อีก อาจจะทำให้ขยับออกไปเป็นภายในปี 2569” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งที่มา เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ


แชร์บทความ
Tags

การรถไฟแห่งประเทศไทยครม.รถไฟความเร็วสูงไฮสปีด


add line phoenix