ภาคอสังหาฯ พบนายกฯ เสนอทางรอดฟื้นธุรกิจหลังโควิด-19


11/09/2020 วรรณา หาญนอก

ตัวแทนภาคอสังหาฯเข้าพบนายกฯแนะแนวทางช่วยเหลือธุรกิจกว่า 20 ข้อ หวังช่วยปลดล็อกปัญหา ดึงกำลังซื้อในประเทศ–ต่างชาติฟื้นตัว พร้อมแนะปฏิรูปหน่วยงานภาครัฐ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานร่วมเอกชน

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ณ เวลา 9.30-11.30 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลภาคธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัยที่ประกอบด้วย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ,สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน , สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย รวมทั้งตัวแทนจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่และบริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ได้เข้าพบ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ตามหนังสือเชิญเพื่อเสนอความเห็น และปัญหาภาคธุรกิจโดยตรง ว่ากำลังเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคอะไร เพื่อนำข้อมูลต่างๆที่ได้ไปปรับปรุงแก้ไขอุปสรรคให้ภาคธุรกิจพลิกฟื้นและเติบโตอย่างยั่งยืน โดยกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัยได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีนั้นสรุปได้ ดังนี้

1.ขอให้ยกเลิกมาตรการ LTV  ( Loan to Value) เนื่องจากในสภาวะการณ์ปัจจุบันไม่มีการเก็งกำไรในตลาดอสังหาฯแล้ว อนึ่ง มาตรการ LTV เป็นมาตรการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ออกมากำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562  หลังจากที่พบสัญญาณการเก็งกําไรและความไม่สมดุลในตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียมทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยสะสมความเปราะบางมากขึ้น ประกอบกับตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยการแข่งขันในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยรุนแรงขึ้น

2.การลดค่าธรรมเนียมการโอนจากเดิม 2% เหลือ 0.01% และลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1 % เหลือ 0.01 % สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัยที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุด จากราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย ขอให้ขยายเป็นระดับราคา 5 ล้านบาทหรือ ไม่จำกัดเพดานราคา

อนึ่ง การลดค่าธรรมเนียมการโอนจากเดิม 2% เหลือ 0.01% และลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1 % เหลือ 0.01 % สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัยที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุด จากราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย และการจดทะเบียนการโอนและการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยต้องดำเนินการในคราวเดียวกัน ซึ่งมาตรการนี้เริ่มตั้งแต่2 พฤศจิกายน 2562 ต่อเนื่องถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2563

3.ขอให้มีการปรับแก้กฎหมายการเช่าระยะยาวหรือลีสโฮลด์ จากปัจจุบัน 30 ปีเป็น 50 ปี การเพิ่มระยะเวลาการเช่าจาก 30 ปี เป็น 50 ปีในพื้นที่อืนๆด้วย (ปัจจุบันกฎหมายได้กำหนดการเช่าะยะยาวในบางโซน เช่น พื้นที่สีแดง เพื่อการพาณิชย์ ที่กำหนดได้สิทธิการเชาระยะยาว 50 ปี) ซึ่งการแก้กฎหมายดังกล่าวน่าจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่ออำนวยความสะดวกต่างชาติซื้ออสังหาฯไทย

4.การขยายเวลาหรือการออกวีซ่าให้ชาวต่างชาติมาลงทุนสามารถพำนักในไทยได้นานขึ้นเช่นสามารถพำนักได้เป็น 5 –10 ปี (โดยอาจมีเงื่อนไขกำกับด้วยก็ได้) ซึ่งวิธีนี้ก็จจะช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้ต่างชาติซื้อคอนโดฯ ในไทยเป็นบ้านหลังที่สองมากขึ้นได้

5.ขยายเพดานราคาบ้านบีโอไอ จากปัจจุบันที่กำหนดอยู่ที่ 1.2 ล้านบาท เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เอกชนเข้ามาลงทุนให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  อนึ่ง สำหรับหลักเณฑ์เกี่ยวกับบ้านบีโอไอในปัจุบันระบุพื้นที่ใช้สอยที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดไม่น้อยกว่า 24 ตารางเมตร (ตร.ม.)ลดลงจากหลักเกณฑ์เดิมคือ 28 ตารางเมตร​(ตร.ม.)และขยับราคาขึ้นเป็น 1.2 ล้านบาทนั้น เกณฑ์ที่ยืดหยุ่นดังกล่าวส่งผลดีต่อภาพรวมของธุรกิจ ซึ่งผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินที่จับตลาดกลุ่มนี้ก็ได้ประโยน์ แต่สำหรับที่อยู่อาศัยแนวราบกำหนดให้โครงการแนวราบทั้งทาวน์เฮาส์–บ้านเดี่ยวมีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 70 ตารางเมตร (ตร.ม.) ราคาไม่เกิน 1.2 ล้านบาท(รวมค่าที่ดิน)ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเท่านั้นและไม่เกิน 1 ล้านบาท (รวมค่าที่ดิน) ในกรณีตั้งในจังหวัดอื่นๆ เป็นต้น

6. เสนอให้ตั้งหน่วยงานเพื่อแก้ไขปัญหาแบบ One-Stop-Service ในรูปแบบมีหน่วยงานกลางเข้ามาดูแลเกี่ยวกับภาคธุรกิจอสังหาฯโดยเฉพาะคล้ายๆกับ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19

7.ชูแคมเปญ Thailand Best Second Home ดึงต่างชาติซื้อซัพพลายล้น

8.ให้วีซ่าระยะยาวผู้ซื้ออสังหาฯ

9.เชื่อมระบบประกันสุขภาพของไทยกับต่างชาติ เพื่อรองรับการรักษาในไทย

10.จัดหาแหล่งทุน, ยกเว้นภาษี 1-3 ปีแรก จูงใจให้รายอื่นเข้าซื้อโครงการที่เริ่มขาดสภาพคล่องลดปัญหากิจการที่จะเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในอนาคต

11.มอบอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดฟื้นเศรษฐกิจภายในไม่ต้องรอส่วนกลาง เก็บข้อมูลธุรกิจรายเดือนเพื่อแก้ไขได้ตรงจุด และร่วมหารือกับศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ จากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ ศบศ. อย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาในเชิงรุกได้

12.ดึงคนคนสร้างบ้านตลาด 2 แสนล้านบาทกระตุ้นเศรษฐกิจ

13.ชูศูนย์กลางสำนักงานแห่งเอเชีย ดึงต่างชาติมาตั้งสำนักงาน รองรับซัพพลายมิกซ์ยูสกำลังสร้างจำนวนมากอีก 2-3 ปี

14.เปิดโอกาสให้เช่าที่ดินะยะยาว จาก 30 ปี 99 ปี เหมือนอีอีซี ในพื้นที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ

15.เปิดพื้นที่สีน้ำเงินของรัฐ ให้เอกชนเข้ามาลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยคนมีรายได้น้อย

16.จัดทำฐานข้อมูลการก่อสร้างอสังหาฯ ตั้งแต่ต้นทางเพื่อบริหารจัดการส่งเสริมอสังหาฯบนข้อมูลในอนาคต

17. ส่งเสริมชาวต่างชาติสูงวัย มาอยู่อาศัย,ท่องเที่ยวและฟื้นฟูสุขภาพ ในประเทศไทยมากขึ้น

18. ปรับมาตรฐานการจัดสรรที่ดินให้สอดคล้องกับราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้นมากในรอบกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ด้วยการปรับลดพื้นที่ดินขั้นต่ำ บ้านแฝด จาก 35 ตารางวา เป็น 30 ตารางวา และการปรับลดพื้นที่ดินขั้นต่ำ บ้านเดี่ยว จาก  50 ตารางวา เป็น 40 ตารางวา

19. ผ่อนปรนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยบ้านจัดสรร ที่มีขนาด 100 ไร่ หรือ 500 แปลง ควรปรับเพิ่มเป็น 200 ไร่ หรือ 1,000 แปลง และอาคารชุด ที่มีขนาด 79 หน่วย ควรปรับเพิ่มเป็น 240 หน่วย

20. ออกตราสารหนี้ระยะยาว (BOND)เป็นการเพิ่มสภาพคล่องในตลาด และช่วยเหลือสถาบันการเงิน อีกทั้งควรตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ขึ้นมาเพื่อรับซื้อหนี้เสีย ซึ่งรัฐบาลสามารถดำเนินการได้

21.เน้นการปฏิรูป กรมที่ดิน, หน่วยงานสังกัดกระทรวงมหาไทย , บีโอไอ,คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ,กทม.และหน่วยงานในสังกัดขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า จากการที่ได้เข้าพบนายกฯในครั้งนี้ได้นำเสนอให้ประเทศไทยเป็น “Thailand Best Second Home”หลังจากที่ประเทศไทยปลอดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มามากกว่า 100 วันแล้ว รวมไปถึงการวีซ่าระยะยาวกับชาวต่างชาติที่ซื้ออสังหาฯในประเทศไทย และการให้ชาวต่างชาติสามารถถือครองที่อยู่อาศัยแนวราบได้มากกว่าคอนโดฯได้หริอไม่ ถ้าหากถือครองระยะยาวไม่ได้ สามารถแก้ไขให้สามารถเช่าเกินระยะเวลา 30 ปีได้หรือไม่ เพื่อดึงชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนมากที่สุด เพราะอสังหาฯไทยในปัจจุบันมีระบบสาธารณูปโภคที่รองรับอย่างครบครัน สามารถเดินทางได้สะดวก เชื่อว่าในอีก 3 ปี หากอสังหาฯไทยสามารถฟื้นตัว ก็จะดึงกำลังซื้อต่างชาติกลับมาได้เร็วขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้กรณีที่มีการซื้อทรัพย์เปลี่ยนมือโครงการจากผู้ประกอบการเดิมที่ประสบปัญหาไม่สามารถพัฒนาต่อได้มาเป็นของผู้ประกอบการอีกราย โดยที่ไม่ต้องเสียภาษี

อีกทั้งต้องการให้ขยายมาตรการการลดค่าธรรมเนียมการโอนจากเดิม 2% เหลือ 0.01% และลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1 % เหลือ 0.01 % สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัยที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุด จากราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย เป็นให้ครอบคลุมทุกระดับราคา และกำหนดการลดหย่อนที่แตกต่างกันไป เพื่อที่จะได้ทำให้มียอดขายที่ดีขึ้น

รวมไปถึงอยากให้การปรับเปลี่ยนผังเมือง การขอนุญาตเรื่องต่างๆเกี่ยวกับการจัดสรรในธุรกิจอสังหาฯ มีมาตรฐานที่ชัดเจน ไม่ใช่ใช้วิจารณญาณส่วนบุคคลเป็นเกณฑ์ การดำเนินการทุกอย่างอยากเป็นในรูปแบบของ One Stop Service

นอกจากนี้อยากให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเข้ามาช่วยเหลือนักธุรกิจในท้องถิ่นทุกเซกเตอร์ และนำไปหารือกับ ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ จากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ ศบศ. อย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาในเชิงรุกได้

สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่อยากเห็นการปฏิรูปมากที่สุดคือ หน่วยงานในกระทรวงมหาดไทย , สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ  BOI ,คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(สวล.) หน่วยที่สังกัดกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และกทม. เป็นต้น

“ปัญหาที่ภาคอสังหาฯนำเสนอไปทั้งหมดนั้น รัฐบาลคงต้องนำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งทุกอย่างเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำ เพราะเป็นการเสนอทางรอดให้กับประเทศไทยและช่วยพยุงธุรกิจอสังหาฯให้ดีขึ้น” นายพรนริศ กล่าวในที่สุด

นายอนุพงษ์ อัศวโภคิน

ด้าน นายอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AP กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ที่ได้รับผลกระทบทั่วโลก แต่ประเทศไทยถือว่าบริหารจัดการควบคุมโควิด-19 ได้ จึงต้องการให้ภาครัฐเร่งกระตุ้นกำลังซื้อ และสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้กับผู้บริโภค รวมไปถึงการเข้าไปส่งเสริมให้ธนาคารลดการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อ มีการอนุมัติการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา มียอดปฏิเสธสินเชื่อค่อนข้างสูงจึงส่งผลกับตลาดระดับราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท เข้าไม่ถึงสินเชื่อซื้อที่อยู่อาศัย

“ถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่นายกรัฐมนตรีเปิดใจรับฟังภาคธุรกิจนอกเหนือจากที่รับฟังข้อมูลจากภาคราชการ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ทำงานจริง ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน  ถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายในอนาคต”นายอนุพงษ์กล่าว

นายประทีป ตั้งมติธรรม

นายประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด(มหาชน) หรือ SPALI กล่าวว่า ภาครัฐควรพลิกฟื้นเศรษฐกิจด้วยธุรกิจอสังหาฯ โดยการส่งเสริมให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนซื้ออสังหาฯด้วยการเพิ่มจำนวนการออกวีซ่า และสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมไปถึงส่งเสริมชาวต่างชาติสูงวัย มาอยู่อาศัย,ท่องเที่ยวและฟื้นฟูสุขภาพ ในประเทศไทยมากขึ้น

สำหรับปัจจัยที่มองว่ายังเป็นอุปสรรคต่อการซื้ออสังหาริมทรัพย์อยู่นั้น เป็นเรื่องเกณฑ์ของมาตรการกำกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ( Loan to Value : LTV) ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดกำลังซื้อของลูกค้า และการจัดประเภทกลุ่มบุคคลของมาตรการ LTV ในเรื่องบ้านหลังที่ 2 ทำให้ลูกค้าบางรายติดปัญหาดังกล่าวจากการถูกนำไปจัดกลุ่มเข้าเกณฑ์บ้านหลังที่ 2 ทั้งที่จริงแล้วเป็นคนละประเภท ทำให้ลูกค้ารายนั้นๆที่เข้าเกณฑ์ไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการและลูกค้าเสียโอกาส ซึ่งมองว่าเกณฑ์ LTV ดังกล่าวควรผ่อนคลาย หรือยกเลิกไป

นอกจากนี้มาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนองควรขยายเพดานการลดหย่อนเพิ่มมากขึ้น จากราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็น 5 ล้านบาท เพราะปัจจุบันกลุ่มที่อยู่อาศัยระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทมีสัดส่วนที่ไม่สูงมาก หากขยายเพดานลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนองได้ถึงระดับราคา 5 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนครึ่งหนึ่งของตลาด จะช่วยจูงใจการซื้อที่อยู่อาศัยในหลายกลุ่มมากขึ้น โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยระดับกลาง ที่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อและไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการกู้สินเชื่อจากแบงก์

ด้านมาตรการส่งเสริมของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI การส่งเสริมการพัฒนาที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1.2 ล้านบาท ในกรุงเทพฯนั้นดำเนินการได้ค่อนข้างยาก และแทบไม่มีผู้ประกอบการรายใดสามารถพัฒนาราคาดังกล่าวได้ และกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะขยับมาซื้อที่อยู่อาศัยระดับราคา 1.5-1.8 ล้านบาท กันค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นทำเลที่ยังสามารถเดินทางได้สะดวก และเป็นกลุ่มระดับราคาที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นถึงความคุ้มค่าในการพัฒนาโครงการได้ ซึ่งหากขยับราคาพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยจากการส่งเสริมของ BOI มาที่ระดับราคา 1.5-1.8 ล้านบาท ได้จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาโครงการได้มากขึ้น และประชาชนสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯที่ตั้งอยู่ในทำเลที่ดีได้มากขึ้น

อีกทั้งควรปรับมาตรฐานการจัดสรรที่ดินให้สอดคล้องกับราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้นมากในรอบกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ด้วยการปรับลดพื้นที่ดินขั้นต่ำ บ้านแฝด จาก 35 ตารางวา เป็น 30 ตารางวา และการปรับลดพื้นที่ดินขั้นต่ำ บ้านเดี่ยว จาก  50 ตารางวา เป็น 40 ตารางวา

นอกจากควรผ่อนปรนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยบ้านจัดสรร ที่มีขนาด 100 ไร่ หรือ 500 แปลง ควรปรับเพิ่มเป็น 200 ไร่ หรือ 1,000 แปลง และอาคารชุด ที่มีขนาด 79 หน่วย ควรปรับเพิ่มเป็น 240 หน่วย

“ที่ผ่านมาอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ จะมาจากการควบคุมของหน่วยงานภาครัฐที่มากจนเกินไป อีกทั้งมีกฎระเบียบที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน ต้องตีความ และใช้ระยะเวลาในการพัฒนาการขออนุญาตนานเกินไป ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่ต้องเน้นการปฏิรูปมากที่สุดคือ กรมที่ดิน, คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ,กทม.และหน่วยงานในสังกัดขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น” นายประทีป กล่าวในที่สุด

นายสงกรานต์ อิสสระ

นายสงกรานต์ อิสสระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ CI กล่าวว่า จากปัญหาโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาต่างๆตามมากมาย โดยผู้ประกอบการอสังหาฯหลายรายประสบปัญหาไม่สามารถทำยอดขายได้มากที่เท่าควร ส่งผลให้เกิดหนี้เสีย และเกิดปัญหาการเลิกจ้างงาน รวมไปถึงก่อให้เกิดความไม่สงบมากขึ้น กำลังซื้อก็ลดลง  จึงอยากให้รัฐบาลออกมากช่วยแก้ไขปัญหา

โดยมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศไทยขณะนี้ต้องนำเม็ดเงินเข้ามาในระบบมากขึ้นเหมือนที่ทุกประเทศกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ด้วยการออกตราสารหนี้ระยะยาว(BOND)เป็นการเพิ่มสภาพคล่องในตลาด และช่วยเหลือสถาบันการเงิน อีกทั้งควรตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ขึ้นมาเพื่อรับซื้อหนี้เสีย ซึ่งรัฐบาลสามารถดำเนินการได้

อีกทั้งควรลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ในอสังหาฯทุกเซกเมนต์ รวมไปถึงการปลดล็อกมาตรการกำกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ( Loan to Value : LTV) นอกจากนี้ควรปรับแก้กฎหมายการเช่าระยะยาว (Leasehold) จากปัจจุบัน 30 ปี เป็น 50 -60 ปี เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ และจากชาวต่างชาติ แต่ต้อลดค่าเงินให้อ่อนลง

สำหรับอุปสรรคที่ขวางการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันคือ การคอรัปชั่น รวมไปถึงควรมีการปรับเปลี่ยนกฎหมายการจัดสรร ที่เดิมมีการจำกัดโซนนิ่ง ควรเพิ่มความชัดเจนให้มากกว่านี้ สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่อยากเห็นการปฏิรูปนั้นมีหลายกระทรวง แต่ไม่อยากเปิดเผยมากนัก

นางสุพินท์  มีชูชีพ

ด้าน นางสุพินท์  มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือJLL กล่าวว่า ทางภาครัฐได้เชิญให้ร่วมเสนอแนะแนวทางการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาว จึงได้ให้ความเห็นให้รัฐบาลใช้วิกฤติให้เป็นโอกาส เมื่อประเทศไทยก้าวขึ้นมาโดดเด่นในด้านการจัดการกับโควิด-19 ได้อย่างยอดเยี่ยม ได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่ควบคุมโควิดอันดับหนึ่งของโลก และเว็บไซต์ usnews.com  ยังจัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่น่าทำธุรกิจมากที่สุดในโลก ในปี 2562-2563  จึงเหมาะสมที่จะพลิกวิกฤติสร้างโอกาสในการผลักดันให้ไทยเป็น “ศูนย์กลางสำนักงานแห่งเอเชีย หลังจากที่ฮ่องกง กำลังเผชิญกับวิกฤติโรคระบาดและการเมือง ขณะที่สิงคโปร์ ถือเป็นหนึ่งในสำนักงานที่น่าสนใจ ก็มีค่าเช่าสำนักงานสูงกว่าไทยถึง 250% และยังมีค่าครองชีพ(Cost of Living) ไทยจึงติดประเทศที่มีค่าเช่าสำนักงานที่ต่ำที่สุดอันดับ 10 ของโลก

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีสำนักงานที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง และพร้อมเปิดใช้งานจากโครงการมิกซ์ยูสจำนวนมากใน 3 ปีข้างหน้า อาทิ วัน แบงค็อก, เดอะ ฟอร์เรสเทียร์, โครงการดุสิตเซ็นทรัล พาร์ค ฯลฯ ที่รองรับการเข้ามาตั้งสำนักงานได้ในอนาคต

แหล่งที่มา เว็บไซต์ Prop2morrow


แชร์บทความ
Tags

คณะรัฐมนตรีผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์


add line phoenix