
ลดภาษีที่ดิน-ผ่อนเกณฑ์แอลทีวี ครั้งที่ 2 ดีเวลอปเปอร์ฟันธง ตลาดอสังหาฯปีนี้ได้รับผลบวก มั่นใจ รัฐออกมาตรการโด๊ปต่อ คอนโดฯลงทุนกลับสู่ตลาด 30% แนะระวังแก๊งเงินทอน
การผ่อนคลาย เกณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือแอลทีวี ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ครั้งที่ 2 และการผ่อนปรนภาระภาษีที่ดินของกระทรวงการคลัง ย่อมส่งผลบวกต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ พลิกกลับมาคึกคักมากขึ้น
“ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจมุมสะท้อนดีเวลอปเปอร์ไล่ตั้งแต่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) นายชัยยุทธ ชุณหะชา ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงินของบริษัทกล่าวว่า การผ่อนคลายมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งบ้านหลังแรก และบ้านหลังที่ 2 ประกอบกับการประกาศพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2563 ในอัตรา 90% ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสียสำหรับอสังหาริมทรัพย์รอการขาย ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นอาคารชุดกลายเป็นปัจจัยบวกต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยในช่วงปี 2563 คาดจะทำให้ตลาดกลับมาฟื้นตัวขึ้น หลังจากที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา
เช่นเดียวกับการปลดล็อกมาตรการ LTV ครั้งนี้ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี เชื่อว่าสามารถทำให้ตลาดฟื้นตัวได้ในบางส่วน ทั้งช่วยระบายสต๊อกของผู้ประกอบการ ส่งผลให้ซัพพลายในตลาดลดลง และยังส่งผลบวกต่อบริษัทในด้านการโอนโครงการต่างๆ”
ด้านนายณัฐวุฒิ มัธยมจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการพัฒนาธุรกิจพักอาศัย บริษัท สิงห์เอสเตท จำกัด (มหาชน) เสนอว่า การผ่อนปลดเงื่อนไขแอลทีวีลง ถือเป็นเรื่องดีของตลาด แต่ตัวที่จะสามารถกระตุ้นทั้งฝั่งผู้ซื้อ และผู้ขายได้ทั้งตลาดคือ มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนฯ, การจดจำนองให้ทุกระดับราคา ไม่ถูกจำกัดเพียงกลุ่มราคาตํ่ากว่า 3 ล้านบาท และการลดภาษีธุรกิจเฉพาะ เพราะช่วยให้ดีเวลอปเปอร์มีค่าใช้จ่าย หรือต้นทุนลดลงประมาณ 5% ซึ่งประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น คือราคาขายที่ถูกลง ส่งต่อไปยังผู้บริโภคนั่นเอง

นายชนินทร์ วานิชวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮาบิแทท กรุ๊ป จำกัด ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระบุว่า การลดเงื่อนไข และเพิ่มวงเงินดาวน์ในการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการแอลทีวี) ของธปท.นั้น ถือเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับการซื้อ, การขายในตลาดอสังหาฯ ปัจจุบัน ซึ่งแม้ไม่ใช่การประกาศยกเลิกก็ตาม แต่การยอมถอยครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดี เปิดโอกาสให้ตลาดกลับมาฟื้นตัวได้บ้าง
พร้อมมองว่าการลดเงื่อนไขให้กลุ่มสัญญาที่ 2 ผ่อนนานเกิน 2 ปี วางดาวน์เพียง 10% นั้น จะเป็นตัวกระตุ้นกลุ่มผู้ซื้อนักลงทุน(นักลงทุนระยะสั้น, ระยะยาว) ได้อย่างดี เพราะเดิมกลุ่มนี้มีสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของตลาด
ส่วนการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ปรับนํ้าหนักความเสี่ยงของสินเชื่อบ้านให้ธนาคารพาณิชย์นั้น จะช่วยให้มีต้นทุนการดำเนินการที่ถูกลง ย่อมมีผลทางอ้อมต่อผู้ประกอบการเช่นกัน ในแง่สินเชื่อโปรเจ็กต์ไฟแนนซ์ ที่มีโอกาสจะได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย หรือขอสินเชื่อสำหรับการนำมาพัฒนาโครงการได้ง่ายคล่องกว่าเดิม
ด้านนายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟีนิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ฯ บริษัทวิจัยตลาดและที่ปรึกษาอสังหา ริมทรัพย์ ระบุว่ากรณีให้ผู้ที่ขอสินเชื่อบ้านหลังแรกราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท กู้เพิ่มได้ 10% เพื่อซื้อเฟอร์นิเจอร์ว่าอาจจะไปเข้าทางเครือข่ายคอนโดฯเงินเหลือ หรือคอนโดฯ เงินทอน
ขณะที่ นางสาวอลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จะส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภค หรือผู้ซื้อกลับมาดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดบน ที่เดิมแม้ไม่ได้รับผลกระทบจากการบังคับวางเงินดาวน์ของแอลทีวี หรือภาวะเศรษฐกิจ แต่การที่ยื่นกู้ได้สินเชื่อที่น้อยลงไม่เหมือนเก่า ก็ลดความน่าสนใจ ความอยากได้ลง ฉะนั้นการที่ ธปท.ลดเงื่อนไขในกลุ่มบ้านหลังที่ 2 ให้กู้ได้ 90% เมื่อเข้าเงื่อนไขเวลาเกิน 2 ปี จะช่วยฟื้นตลาดได้อย่างมาก
“เชื่อว่ารัฐบาลอาจจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอีก”
แหล่งที่มา เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 29 มกราคม 2563