
คอลัมน์ผ่ามุมคิด อสังหาริมทรัพย์รายเล็กอาศัยการร่วมทุนเจ้าของที่ดิน, นักลงทุนไทย-ต่างชาติ แตกไลน์พัฒนาโครงการขนาดเล็ก ครอบคลุมบ้าน อาคารพาณิชย์ และคอนโดมิเนียม นับ 6 ปี 8 โครงการ มูลค่าแตะ 2 พันล้านบาท “ไลบรารี่ เฮ้าส์” คือ แบรนด์สร้างชื่อ ผลงานจากบริษัทในเครือ
ปัจจุบัน “ไลบรารี่ เอสเตท” โดยนายศุภกิจ รวีอร่ามวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ระบุว่าบริษัทกำลังก้าวสู่สเต็ปใหม่ การเติบโตแบบมืออาชีพ วางเป้าหมาย 5 ปี นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ สร้างสภาพคล่อง ปั้นแบรนด์ ควบคู่การขยายธุรกิจภาคบริการ ภายใต้แนวคิด ไม่หยุดพัฒนา หลังเดินหน้าลุยตลาดช่วงสิ้นปีพร้อมกัน 3 โครงการ สวนทางภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อชะลอ
แนวคิดทำธุรกิจ เนื่องจากเป็นบริษัทรายเล็กในตลาด ที่ค่อยๆ เติบโตและขยายตัวมาอย่างต่อเนื่อง จากอาคารพาณิชย์ สู่ตลาดคอนโดฯ บ้านและทาวน์โฮม ด้วยความหวังต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยให้ดีขึ้น ผ่านโปรดักต์ที่ดี พัฒนาภายใต้การร่วมทุนกับพาร์ตเนอร์ แบ่งแบรนด์ตามระดับราคาและกลุ่มลูกค้า เช่น จีโอ กลุ่มจับต้องได้ , ฟิโล 3-4 ล้านบาท, โนเวล มากกว่า 10 ล้านบาท และเป็นที่รู้จักจากการบุกเบิก แบรนด์คอนโดฯ ไลบรารี่ เฮ้าส์ ใกล้มหาวิทยาลัย ยอมรับว่าตลอด 6 ปี ที่ผ่านมา ต้องเรียนรู้และปรับตัวสูง ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะความเสี่ยง 2 อันดับแรก คือ ทำอย่างไรให้สินค้าขายได้ และ 2. เงิน (สภาพคล่อง) การบริหารจัดการระหว่างทาง ก่อนได้เงินก้อนใหญ่จากการโอน ทำให้ต้องวิเคราะห์ และหาทางรับมือให้ได้ จนปัจจุบันสามารถหาหลักการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนในแบบฉบับของตนเองได้แล้ว ซึ่งจะไม่เน้นโครงการขนาดใหญ่ มูลค่าระดับพันล้านบาท เพราะปัจจุบันมีความเสี่ยงทั้งเรื่องเศรษฐกิจและกำลังซื้อ

“เราค่อยๆ เติบโต ไม่ได้ก้าวกระโดด เพราะจะดูสเต็ปจากสถานการณ์เศรษฐกิจ ตัวเอง และจังหวะการส่งโปรดักต์เข้าตลาด อย่างไหนถึงเหมาะ อยู่ในเซ็กเมนต์ที่ถูกต้อง เพื่อให้เติบโตอย่างยั่งยืน แม้ทำโครงการใหญ่ก็ดี แต่สภาพแบบนี้ พลาดก็พัง”

แต่งตัวเข้า ตลท.
อย่างไรก็ตาม ภายในระยะ 5-6 ปี บริษัทมีแผนขยายธุรกิจไปสู่รูปแบบธุรกิจภาคบริการ เพื่อสร้างรายได้หมุนเวียนต่อเนื่อง เช่น โรงแรมในกรุงเทพฯ ภูเก็ต และกลุ่ม โรงแรมนานาชาติ ขณะเดียวกันจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วย เพื่อหวังระดมทุนต่อยอดแผนธุรกิจ เพิ่มสภาพคล่องการลงทุน จากเดิมเป็นลักษณะร่วมลงทุนกับนักลงทุนรายอื่นๆ คาดจะทำให้บริษัทเป็นที่รู้จัก เติบโตเร็วขึ้น และพัฒนาจำนวนโครงการในแต่ละปีได้มากขึ้น โดยตั้งเป้าขยายมูลค่าโครงการถึง 1 พันล้านบาท ภายในระยะ 2 ปี เพื่อรองรับแผนดังกล่าว ซึ่งขณะนี้เริ่มความชัดเจนในการเตรียมตัวหลายๆ ด้านแล้ว หากเศรษฐกิจดี ก็เป็นจังหวะที่ดีในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ทันที

มืออาชีพ
นายศุภกิจ กล่าวว่า การนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ นอกจากจะเพิ่มกระแสเงินสดให้บริษัทมีสภาพคล่องมากขึ้น
และนำไปสู่การขยายธุรกิจอสังหาฯในแง่อื่นๆแล้ว ยังต้องการปั้นแบรนด์สินค้าที่มีอยู่ให้เป็นที่รู้จัก จดจำ ในกลุ่มลูกค้าให้ได้ไม่ตํ่ากว่า 2-3 แบรนด์ ตามแบบฉบับมืออาชีพ พร้อมระบุว่า การทำธุรกิจในโลกปัจจุบัน จำเป็นต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เหมือนอยู่ในห้องสมุด เพราะโลกเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันพฤติกรรมลูกค้า เทคโนโลยี ฐานข้อมูล เปลี่ยนตลอดเวลาเช่นกัน ทำให้ต้องปรับการทำงาน การออกแบบ มิเช่นนั้น อาจไปไม่รอด
เน้นทำเลที่ตั้ง
สำหรับในปี 2562 บริษัทลุยเปิดโครงการใหม่ 3 โครงการ คือ อาคารพาณิชย์และโฮมออฟฟิศ เดอะ คอมเมิร์ซ ประชาอุทิศ – สุขสวัสดิ์, โครงการคอนโดฯ ฟิโล เอกมัย 6 และล่าสุดบ้านแฝด-ทาวน์โฮม โนเวล เรสซิเดนซ์ ลาดพร้าว 18 มูลค่ารวม 910 ล้านบาท โดยแต่ละโครงการมีจุดเด่นที่ชัดเจน และสะท้อนการใช้ชีวิตของคนเมืองแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ ทำเล – ที่ตั้ง ซึ่งทุกโครงการจะคิดเผื่อผู้บริโภคเสมอ ถึงโอกาสของมูลค่าที่จะเพิ่มขึ้น จึงเลือกพัฒนาเฉพาะในทำเลที่ดี มีแนวโน้มการขึ้นของราคาที่ดินในอนาคต เช่น ย่านลาดพร้าว เอกมัย เป็นต้น ด้วยงบซื้อที่ดิน 150-200 ล้านบาทต่อปี
“คอนโดฯโลว์ไรส์ เน้นโครงการไม่ใหญ่ 70-150 หน่วย แม้อยู่ในซอยแต่อยู่ในทำเลรถไฟฟ้า มีโอกาสเติบโตชัดเจน ขายความ ลักชัวรี ขณะที่แนวราบด้วยจำนวนหน่วยน้อยแต่มูลค่าสูง ฉะนั้นต้องหาทำเลที่เจริญเติบโตสูง เช่น ลาดพร้าว ปัจจุบันเรามีทั้งโครงการบ้าน คอนโดฯ ปีหน้าจะพัฒนาเพิ่มอีก เพราะเป็นทำเลไพรม์จริงๆ”
ทั้งนี้ ปี 2562 บริษัทตั้งเป้ายอดขาย 500 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 20% ต่อปี ขณะที่ยอดขายรอรับรู้รายได้ที่ 150 ล้านบาท
แหล่งที่มา เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 31 ตุลาคม 2562