เมียนมาเตรียมออกกฎหมายการลงทุนใหม่


29/06/2020 มณีรัตน์ จันทร์เคน

แม้นว่าประเทศเมียนมาจะมีเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างประเทศ เข้าไปลงทุนทางตรงในประเทศเมียนมาอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงก่อนเจอปัญหาเจ้าวายร้าย COVID 19 เข้ามาอาละวาด โดยในปีค.ศ.2019 มีเม็ดเงินจาก Foreign Direct Investment (FDI) มีมากถึง 4.15 พันล้านเหรียญสหรัฐ เอาแค่ 8 เดือนเริ่มจากพฤศจิกายนปี 2019-เดือนเมษายน ปี 2020 ก็ปาเข้าไปมากถึง 4.39 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป้าหมายเขาตั้งไว้เพียง 5.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ

แน่นอนผมเคยเล่าไปแล้วว่า ผมเชื่อว่าเขาทำได้เข้าเป้าแน่นอน ต้องบอกว่าสำหรับประเทศเล็กๆนั้น มันเป็นตัวเลขมหาศาลจริงๆ เราอย่าไปเอามาเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีฐานเศรษฐกิจที่ผิดกันนะครับ ต้องมองไปเปรียบเทียบกับประเทศที่ด้อยกว่าหรือเท่ากัน และเมื่อเรามองว่าเขาเพิ่งเปิดประเทศได้ไม่นาน เพิ่งจะประมาณไม่ถึงสิบปี เราก็จะเห็นว่าน่าชื่นใจสำหรับเขาจริงๆนะครับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการโรคระบาดไปทั่วโลก เขาเองก็ต้องมีมาตรการต่างๆ ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ  เพื่อจะได้ไม่หยุดนิ่ง เพราะการหยุดนิ่งนั่นหมายถึงการถอยหลังนั่นเอง ทางประเทศเมียนมา โดยท่านรัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ท่าน U Aung Naing Oo ได้ออกมาให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า ประเทศเมียนมายังต้องการการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศอีกมาก ดังนั้นประเทศเมียนมากำลังดำเนินการปรับปรุงแก้ไขหรือปฏิรูปกฏหมายการลงทุนครั้งใหญ่ เป็นครั้งที่ 3 เพื่อลองรับกระแสการลงทุนทางตรงอีกต่อไป เพราะเชื่อว่าหลัง COVID 19 ผ่านพ้นไป จะทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ดังนั้นจึงต้องเตรียมการไว้เพื่อรองรับให้ดี ทั้งนี้ประเทศเมียนมาได้รับความช่วยเหลือขององค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศส หรือ France-based Organization for Economic Cooperation and Development (FOECD) เพื่อกำหนดนโยบายการปฏิรูปที่จำเป็น เพื่อให้ประเทศเมียนมาเป็นจุดหมายปลายทาง เพื่อเป็นที่น่าดึงดูดใจนักลงทุนระหว่างประเทศและนักลงทุนทั้งในประเทศด้วย น่าสนใจมากครับสำหรับมุมมองของฯพณฯท่านรัฐมนตรีท่านนี้ ซึ่งท่านคาดว่ากฎหมายฉบับนี้ จะสามารถคลอดได้ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ทันเวลาของสมัยรัฐบาลชุดนี้ หรือก่อนการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้นั่นเอง 

ประเทศเมียนมาได้แก้ไขกฎหมายการลงทุนครั้งใหญ่มาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกคือช่วงรัฐบาล USDP หรือรัฐบาลทหารเก่า ที่นำโดยประธานาธิบดีเต็ง เซ่ง ในปีค.ศ. 2012 ในยุคนั้นได้เปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนอย่างมีเงื่อนไข แต่ก็ถือว่าเป็นความกล้าหาญอย่างยิ่ง จากเดิมที่มีข้อจำกัดอย่างมากมาย  ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้อัตราแลกเปลี่ยนอัตราเดียว ซึ่งก็เพื่อทะลายกำแพงการลงทุนครั้งยิ่งใหญ่ เพราะถ้าหากใช้อัตราแลกเปลี่ยนสองอัตรา จะทำให้ไม่สามารถมีนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาได้เลย ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆคือ อัตราที่รัฐบาลกำหนดในอดีตคือ 1 US$ = 6.5จ๊าด ในขณะที่ตลาดมืดใต้ดิน อยู่ที่ประมาณ 800 จ๊าด นักลงทุนที่นำเงินเข้าไปลงทุนที่ประเทศเมียนมาอย่างเป็นทางการ 1 ล้านเหรียญ ได้เงินเพียง 6.5 ล้านจ๊าด แต่ถ้าเอาเข้าไปแบบไม่เป็นทางการ หรือแบบใต้ดิน จะได้เงินมากถึง 800 ล้านจ๊าด แล้วจะมีใครเข้าไปละครับ แค่เริ่มดำเนินการก่อตั้งบริษัทยังไม่เสร็จ ก็เริ่มขาดทุนไปก่อน 793.5 ล้านจ๊าดแล้ว นี่คือความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่ฯพณฯท่านเต็ง เซ่ง ที่มอบให้แก่แผ่นดินเมียนมาละครับ 

ครั้งต่อมาเมื่อพรรค NLD ขึ้นมาบริหารราชการแผ่นดิน ได้สานต่อระบบการค้า-การลงทุนใหม่อีกครั้ง ในปีค.ศ 2018 รัฐบาลได้มีการปรับปรุงแก้ไขหรือปฏิรูปกฏหมายการลงทุนใหม่อีกครั้ง คราวนี้ได้ปรับปรุงให้มีความทันสมัยมากขึ้น และมีการปลดปล่อยข้อกำหนดหลากหลายประการ ผมคงไม่ต้องนำมาอธิบายอีกนะครับ เพราะเล่าไปหลายครั้งแล้ว เอาเป็นว่าครั้งนั้น ทำให้การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้าประเทศเมียนมาอย่างมากมาย รวมทั้งปลายปี ค.ศ.2019 น่าเสียดายที่ทุกอย่างกำลังไปได้สวย เจ้าวายร้าย COVID 19 ก็เข้ามาเสียก่อน ทำให้เศรษฐกิจต้องหยุดชะงักไปหมด การออกกฎหมายใหม่ของประเทศเมียนมาครั้งนี้ จึงเป็นการที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น 

โดยวัตถุประสงค์หลักของกฏหมายใหม่นี้ ก็เพื่อดึงดูดการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) เชื่อว่าจะมีหลายธุรกิจที่สนใจเข้ามาลงทุนในเมียนมา น่าจะมีมากกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยทางกระทรวงการลงทุนคาดว่าในปีงบประมาณ 2021-22 จะมีมูลค่าการลงทุน 8.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และในปีค.ศ. 2025-26 จะมีมูลค่า 12.3 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และในปีค.ศ.2026 ถึงปีค.ศ. 2031 จะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นถึง 17.6 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งเมื่อครบ 20 ปีข้างหน้า เป้าหมายที่ตั้งไว้ 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐจึงมีความเป็นไปได้สูงทีเดียวครับ

เราคงต้องจับตาดูประเทศที่เปิดใหม่อย่างเมียนมาให้ดี ถ้าใครพลาดโอกาสนี้ไป คงต้องรอไปบุกเบิกใหม่ที่ประเทศแถบแอฟริกาแล้วละครับ

แหล่งที่มา เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 29 มิถุนายน 2563 คอลัมน์ เมียงมองเมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์


แชร์บทความ
Tags

พม่าลงทุนลงทุนอสังหาฯ


add line phoenix