สกพอ.ชี้โควิดไม่กระทบอีอีซี ยืนยันชิง’อู่ตะเภา-แหลมฉบัง’ จบ เม.ย.นี้


02/04/2020 มณีรัตน์ จันทร์เคน

การประมูลโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีเหลือ 2 โครงการสำคัญ คือ 1.สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 2.ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ซึ่งหน่วยงานเจ้าของโครงการกำลังเดินหน้าหลังจากมีความชัดเจนในกระบวนการศาลปกครอง

แหล่งจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า แม้ในภาวะการระบาดโรคโควิด-19 แต่ สกพอ.ยังเดินหน้าดำเนินงานตามแผนงานที่วางไว้ โดยการประชุมต่างๆได้เปลี่ยนมาประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ต่างๆ ก็ไม่ได้เลื่อนอยู่ระหว่างการดำเนินงานตามขั้นตอนทุกโครงการ

โดยโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ได้แก่ 

1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้เตรียมพร้อมส่งมอบพื้นที่ตามแผน ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบแผนการเวน1คืน และเร่งรัด รื้อย้ายสาธารณูปโภค โยกย้ายผู้บุกรุก และยกเลิกสัญญาเช่า เพื่อส่งมอบพื้นที่โครงการฯ ช่วงลาดกระบัง-อู่ตะเภา 1 ปี 3 เดือน และช่วงพญาไท-ดอนเมือง 2 ปี 3 เดือน และเป็นไปตามสัญญาร่วมลงทุนในช่วงลาดกระบัง-อู่ตะเภา 2 ปี และช่วงพญาไท-ดอนเมือง 4 ปี

ทั้งนี้ เอกชนคู่สัญญาอยู่ระหว่างสำรวจรายละเอียดพื้นที่และเตรียมการออกแบบโครงการ เตรียมสำรวจข้อมูลทางเทคนิคของแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เตรียมก่อสร้างสํานักงานโครงการฯ โดยตั้งอยู่ที่สํานักงานบริหารโครงการระบบรถไฟฟ้า ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บริเวณมักกะสัน นอกจากนี้ ร.ฟ.ท. และ สกพอ.ได้ร่วมกันคัดเลือกที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างแล้วเสร็จ และคาดว่ารฟท.จะทยอยส่งมอบพื้นที่เพื่อให้เอกชนจะเริ่มงานก่อสร้างภายในต้นปี 2564

2.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาร่างสัญญา และในช่วงเดือน เม.ย. นี้ จะมีการประชุมของคณะทำงานสนับสนุนการทำงานคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้แก่ คณะทำงานเจรจาเงื่อนไขสัญญาร่วมลงทุน มีการประชุมไปแล้ว 6 ครั้ง ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 16 มี.ค.2563 และคณะทำงานเจรจารายละเอียดด้านเทคนิค ซึ่งได้มีการประชุมไปแล้ว 6 ครั้งเช่นกัน ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2563

การเจรจากลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ที่เสนอเงินประกันรายได้เป็นผลตอบแทนให้ภาครัฐสูงที่สุด จะแล้วเสร็จภายใน มี.ค.นี้ จากนั้นจะเสนอร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา และส่งต่อให้ สกพอ. และ ครม. พิจารณาได้ภายในเดือน เม.ย.นี้

3.โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 ได้เตรียมดำเนินการก่อสร้างปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแล และคณะกรรมการบริหารสัญญา โดยสกพอ. และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เตรียมว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อสนับสนุนคณะกรรมการบริหารสัญญา และหน่วยงานเจ้าของโครงการในการควบคุมและกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเอกชนคู่สัญญาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน เพื่อเริ่มดำเนินการก่อสร้าง

4.โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมแหลมฉบัง ระยะ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ได้เร่งเจรจาเพื่อให้รัฐได้ผลตอบแทนสูงสุด โดยคำสั่งศาลปกครองสูงสุดให้คำสั่งทางปกครองของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่ตัดสิทธิ์ไม่รับซองที่ 2 ของกลุ่ม เนื่องจากไม่ได้ลงนามในเอกสารสำคัญ ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2563

ปัจจุบันคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เร่งเจรจาผลตอบแทน และร่างสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC (ประกอบด้วยบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ในกลุ่มบมจ.ปตท. , บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวล ลอปเมนท์ และบริษัท China Harbour Engineering Commpany Limited) ที่เป็นผู้ยื่นข้อเสนออีกหนึ่งรายที่เหลืออยู่ คาดว่าจะแล้วเสร็จและลงนามสัญญาได้ภายในเดือนเม.ย.2563

ส่วนการลงทุนตั้งฐานการผลิตของต่างชาติ ขณะนี้ต้องหยุดทั้งหมด เพราะไม่สามารถเดินทางเข้ามาในไทยได้ แต่ก็มีการประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์โดยตลอด ซึ่งหากประเทศไทยรับมือกับปัญหาโควิด-19 ได้ดี ก็จะยิ่งทำให้ต่างชาติมั่นใจในการบริหารจัดการของไทย ส่งผลให้การลงทุนขยายตัวหลังเหตุการณ์โควิด-19

นอกจากนี้ สกพอ. ได้ได้เข้าไปหารือกับผู้บริหารของ จ.ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เพื่อวางแผนงานมหกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่ต่างๆของ อีอีซี และเตรียมความพร้องของท้องถิ่นรองรับการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวภายหลังเหตุการณ์โควิด-19 สงบ เพื่อให้การท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ได้มีความคืบหน้าหลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยยกฟ้องกรณีเอกชนฟ้องเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ปัจจุบัน กทท.ได้ประสานไปกลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี ที่ผ่านการคัดเลือก เพื่อเริ่มต้นขั้นตอนเจรจาผลตอบแทน

“ตอนนี้เราได้ติดต่อไปยังเอกชนเพื่อเตรียมมาเจรจาแล้ว แต่ก็เข้าใจว่าทางเอกชนต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทด้วย จึงยังไม่ได้ตอบนัดวันเจรจากลับมา ซึ่งประเด็นที่เราจะเจรจา มีเรื่องของการเจรจาผลตอบแทนให้ได้เงินสูงสุด”

รายงานข่าวจาก กทท.ระบุว่า เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์โรคโควิด -19 ที่ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้การพิจารณาขั้นตอนเจรจาจากทางเอกชนมีการสะดุดไปบ้าง เพราะเอกชนจะต้องรอนำเรื่องเข้าที่ประชุมบอร์ด ก่อนที่จะมาดำเนินการเจรจากับคณะกรรมการคัดเลือกฯ ดังนั้นตอนนี้ก็ถือว่าขั้นตอนเจรจาอาจจะต้องล่าช้าออกไป แต่ระหว่างนี้ กทท.ทำงานควบคู่ โดยได้ส่งร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดตรวจสอบและเห็นชอบแล้ว

แหล่งที่มา เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 1 เมษายน 2563


แชร์บทความ
Tags

รถไฟฟ้าความเร็วสูงสนามบินอู่ตะเภาอีอีซี


add line phoenix