ยุคของคนที่พร้อมและคนที่มีมากกว่า


25/02/2021 สุรเชษฐ กองชีพ

การที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมชะลอตัวแบบรุนแรงมีผลกระทบต่อเนื่องไปถึงผู้ประกอบการเจ้าของโครงการแน่นอน โดยถ้าเป็นโครงการเปิดขายใหม่จะได้รับการตอบรับที่ไม่ดี อัตราการขายต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้หรือขายแทบไม่ได้เลยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาหรือต่อเนื่องมาจากปีพ.ศ.2562

เมื่อยอดขายต่ำกว่าที่คาดการณ์หรือที่ตั้งเป้าไว้การขอสินเชื่อโครงการจากธนาคารก็จะยากลำบากมากขึ้น เพราะโดยส่วนใหญ่ธนาคารต้องการให้แต่ละโครงการมีอัตราการขายได้หรือยอดจองขั้นต่ำ 50% ขึ้นไปจึงจะพิจารณาให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการเพื่อนำไปพัฒนาโครงการ ถ้ายอดจองต่ำกว่า 50% ธนาคารมักจะปฏิเสธโดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจและทุกย่างอยู่ในภาวะที่ไม่เอื้อต่อการลงทุนพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม

การไม่ได้รับสินเชื่อในการพัฒนาโครงการจากธนาคารอาจจะเป็นปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการรายกลางหรือรายเล็กที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์เพราะพวกเขาจำเป็นต้องใช้สินเชื่อจากธนาคารในการลงทุนก่อสร้างโครงการ พวกเขาไม่อยากนำเงินของบริษัทออกมาลงทุนหรืออาจจะมีไม่มากพอในการก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จรวมไปถึงอาจจะมีมากกว่า 1 โครงการที่อยู่ภาวะเดียวกัน ดังนั้น จึงไม่สามารถพัฒนาหรือเดินหน้าพร้อมกันทุกโครงการได้ แต่สำหรับผู้ปะกอบการรายใหญ่หรือรายที่มีเงินทุนสำรองมากก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่ นอกจากนี้ผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ยังสามารถออกหุ้นกู้ในตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมเงินทุนมาหมุนเวียนได้อีก อีก 1 ช่องทางใน การหาเงินทุนของผู้ประกอบการคือ การเร่งโอนกรรมสิทธิ์โครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จหรือที่กำลังจะเสร็จให้เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าการจะสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ซื้อบางส่วนให้โอนกรรมสิทธิ์หรือให้เข้ามาเลือกซื้อคอนโดมิเนียมในโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จนั้นต้องใช้มาตรการทางการตลาดทั้งการลดราคา มีของแถม ซึ่งมากกว่าในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจขยายตัว

การลดราคาขายคอนโดมิเนียมในโครงการที่สร้างเสร็จแล้วกลายเป็น 1 ในวิธีที่ผู้ประกอบการรายใหญ่เลือกนำมาใช้ในปีที่ผ่านมา และต่อเนื่องถึงปีนี้ เพื่อให้เกิดการโอนกรรมสิทธิ์และผู้ประกอบการจะได้เงินสดเข้ามาหมุนเวียนมากขึ้น แต่สำหรับผู้ประกอบการรายเล็กหรือรายกลางนั้น การลดราคาไม่สามารถทำได้แบบที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ทำ เนื่องจากต้นทุนในการก่อสร้าง การตลาด และอื่นๆ นั้นแตกต่างกัน เมื่อขาดเงินทุนหมุนเวียน ขาดสินเชื่อโครงการก็มีผลให้การก่อสร้างโครงการล่าช้าจากกำหนดเดิมที่ตั้งไว้ หรือเป็นไปแบบเชื่องช้าจนผู้ซื้อสามารถสังเกตได้และมีผลต่อเนื่องให้โครงการหรือผู้ประกอบการขาดความน่าเชื่อถือยิ่งมีผลให้ยอดขายใหม่หดหายไปอีก เพราะผู้ซื้อหรือคนที่สนใจจะซื้อขาดความเชื่อมั่นต่อผู้ประกอบการไปแล้วกลัวซื้อแล้วโครงการสร้างไม่เสร็จหรือไม่ได้สร้าง สุดท้ายแล้วก็อาจจะต้องคืนเงินจองพร้อมเงินชดเชยซึ่งมีให้เห็นบ้างในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โครงการบ้านจัดสรรอาจจะยังพอไปได้โดยสร้างเฉพาะยูนิตที่มีคนซื้อไปแล้วเท่านั้น     

ทางออกสุดท้ายจริงๆ ของผู้ประกอบการที่ประสบปัญหานี้ คือ การบอกขายโครงการพร้อมยอดจองหรือผู้ซื้อซึ่งเงื่อนไขในการขายนั้นก็แตกต่างกันไป เช่น

1.ขายที่ดินพร้อมใบอนุญาตต่างๆ และยอดจองหรือผู้ซื้อที่เซ็นสัญญาจะซื้อจะขายและผ่อนดาวน์กับโครงการอยู่ โดยเจ้าของโครงการเดิมออกไปจากโครงการเลย

2.ขายที่ดินพร้อมใบอนุญาตต่างๆ โดยผู้ประกอบการเจ้าของโครงการเจรจาคืนเงินกับผู้ซื้อทั้งหมด ผู้ซื้อใหม่จะได้แค่ที่ดินและเอกสารกับใบอนุญาตเท่านั้น

3.ขายที่ดินพร้อมใบอนุญาตต่างๆ และยอดจองหรือผู้ซื้อที่เซ็นสัญญาจะซื้อจะขายและผ่อนดาวน์กับโครงการอยู่ เจ้าของโครงการเดิมจะดูแลทั้งเรื่องของการขายและการก่อสร้างต่อเนื่องจนจบโครงการ

เงื่อนไขในการขายอาจจะมีมากกว่านี้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการซื้อโครงการที่ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จพร้อมยอดจองหรือผู้ซื้อเดิมน่าจะเป็นทางเลือกที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่สนใจมากที่สุด เพราะอย่างน้อยก็ยังเป็นการการันตีในระดับหนึ่งว่าโครงการนี้มีผู้ซื้อไปแล้วส่วนหนึ่ง ไม่ใช่เริ่มจากศูนย์ แต่ผู้ประกอบการที่เข้าไปซื้อบางรายอาจจะไม่ถูกใจหรือคิดว่าโครงการที่พวกเขาเข้าไปซื้อนั้นผิดตั้งแต่ต้นก็อาจจะไม่เอาทั้งรูปแบบหรือผู้ซื้อให้เจ้าของโครงการเดิมจัดการให้เรียบร้อยก่อนเพื่อเริ่มใหม่ ผู้ประกอบการที่สนใจจะซื้อโครงการที่ก่อสร้างไม่เสร็จแล้วติดขัดในเรื่องของเงินลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการต่อไปนั้นมีไม่น้อย เพียงแต่การเจรจาหรือแสดงความจำนงว่าจะซื้อนั้นจะทำกันเป็นความลับมากกว่า เนื่องจากจะมีผลต่อภาพลักษณ์ของบริษัทที่ขาย และมีผลต่อผู้ประกอบการที่เข้าไปซื้อโครงการในกรณีที่เป็นผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์

ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายพร้อมเข้าซื้อโครงการที่ก่อสร้างไม่เสร็จหรือขาดเงินทุนในการก่อสร้าง แต่เงื่อนไขหรือมูลค่าของโครงการอาจะเป็นเรื่องที่ทำให้การเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากว่า ฝั่งของผู้ประกอบการเจ้าของโครงการมองว่ามูลค่าโครงการนอกจากเรื่องของมูลค่าที่ดินแล้วยังมีมูลค่าของการทำงานตั้งแต่เริ่มจนถึงกระบวนการออกขาย ดังนั้น มูลค่าโครงการจึงสูง แต่ฝั่งของผู้ประกอบการที่จะเข้ามาซื้อโครงการนั้นมองแค่ที่ดิน หรือการก่อสร้าง ณ ปัจจุบันเท่านั้น อาจจะรวมยอดจองที่เกิดขึ้นจริงด้วย แต่ที่ทำให้การซื้อขายบ่อยครั้งไม่จบ คือ ผู้ประกอบการที่เข้ามาซื้อมักจะซื้อในราคาที่ต่ำกว่าทางเจ้าของโครงการเดิมตั้งไว้โดยเฉพาะในภาวะแบบนี้ยิ่งมีการต่อรองราคามากขึ้น ซึ่งเจ้าของโครงการเดิมก็อาจจะไม่ได้ตัดสินใจขายทันที แต่พยายามหาช่องทางในการหาเงินทุนต่อไปหรือพยายามเร่งการขายโครงการที่จะขายต่อหรือโครงการอื่นให้มากขึ้น รวมไปถึงการหานักลงทุนรายอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ ที่อาจจะเหมาะสมกับทางเจ้าของโครงการทั้งในเรื่องของมูลค่าโครงการ และเงื่อนไขอื่นๆ การขายแบบลดราคาลงมาเป็นทางเลือกสุดท้าย


แชร์บทความ
Tags

คอนโดมิเนียมผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ฟีนิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ฟีนิกซ์ฯ


add line phoenix